รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นเวลาเกือบ 10 ปีเต็ม ที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations) กำหนดให้ทุกวันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันความสุขสากล" (The International Day of Happiness) เพราะเล็งเห็นว่าความสุขคือเป้าหมายพื้นฐานของชีวิต ความสุขช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต และที่สำคัญคือทุกประเทศควรมีนโยบายที่สร้าง ส่งเสริม และเพิ่มพูนความสุขให้กับพลเมืองตนเอง พลเมืองของแต่ละประเทศจะเข้าถึงความสุขได้ต้องอาศัยการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ต้องเป็นไปอย่างเสมอภาค สมดุล และยั่งยืน มุ่งขจัดความยากจน และคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดที่ดี ตามรายงานความสุขโลกประจำปี 2565 (World Happiness Report 2022) ของเครือข่ายเพื่อ การพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Solutions Network) ที่เผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ชี้ให้เห็นว่าคนไทยมีระดับความสุขลดลงเรื่อย ๆ เป็นเวลา 4 ปีซ้อนติดต่อกัน คือ ปี 2564 อยู่อันดับที่ 61 ปี 2562 และ 2563 อันดับที่ 54 เท่ากัน ปี 2561 อันดับที่ 52 และปี 2560 อันดับที่ 46 นอกจากนี้ยังพบว่าระดับความสุขของคนไทยตกต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี สอดคล้องกับดัชนีความสุขของคนไทยที่สำรวจโดยกรมสุขภาพจิตที่พบว่าคนไทยมีความสุขลดลง แต่กลับมีความเครียดเพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยที่ใช้วัดระดับความสุขของประชากรพิจารณาจากข้อมูลทางเศรษฐกิจ สถิติประชากร ข้อมูลเชิงจิตวิทยา ความสัมพันธ์ ความไว้วางใจกัน ค่านิยม สุขภาพกาย สุขภาพจิต การศึกษา เสรีภาพทางการเมือง ความเข้มแข็งของเครือข่ายสังคม ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น โดยตัวแปรที่ใช้ในการจัดอันดับความสุขสามารถแบ่งเป็น 6 กลุ่มตัวแปร ได้แก่ รายได้ต่อหัวประชากร อายุขัยเฉลี่ย ระดับการการคอร์รัปชัน เสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิต ความเอื้ออาทร และการสนับสนุนทางสังคม เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่คนไทยมีความสุขลดลง ณ วันนี้ น่าจะเป็นเพราะ “ความหนักใจ” ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หนี้ครัวเรือน ความวุ่นวายทางการเมือง โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง ปัญหาคอร์รัปชัน เศรษฐกิจซบเซา สินค้าราคาแพง น้ำมันขึ้นราคา เงินเฟ้อ ตกงาน/ถูกเลิกจ้าง ไม่สามารถจัดสรรเวลาสำหรับงาน ชีวิตส่วนตัว และครอบครัว ชุมชนและสังคมขาดความปลอดภัย ครอบครัวแตกแยก การเรียนออนไลน์ ความคาดหวังจากคนรอบตัว การถูกใส่ร้าย ล้อเลียน กลั่นแกล้งทางคำพูดหรือ ถูกบูลลี่ เป็นต้น การที่คนไทยต้องประสบกับปัญหาความท้าทายมากมายที่ถาโถมและไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาความท้าทายเหล่านั้นได้โดยลำพัง ทำให้คนไทยป่วยกลายเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และนำไปสู่ปัญหาการ “ปลิด” หรือจบชีวิตตนเอง และจากการเปิดเผยของกรมสุขภาพจิตเมื่อเดือนม.ค. 65 ที่ผ่านมา พบว่า ปี 2563 คนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ย 7 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย และปี 2564 คนไทยฆ่าตัวตายสูงขึ้นใกล้ ๆ กับ 8 รายต่อประชากร 100,000 ราย ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันหาทางลดตัวเลขดังกล่าว แม้ว่าทุกวันนี้คนไทยทุกเพศและทุกช่วงวัยต้องเผชิญกับปัญหาความท้าทายใหม่ ๆ ที่ยากต่อการรับมือที่มีความผันผวนและไม่แน่นอนสูงมาก แต่ทางออกหนึ่งที่จะบรรเทาความหนักใจของคนไทย ณ วันนี้ คือ การสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับประชาชน ภายใต้การเมืองที่มั่นคง การบริหารจัดการบ้านเมืองที่เข้มแข็งของรัฐบาล พร้อมเร่งดำเนินนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชากรในทุกมิติ ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม สิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และโครงสร้างประชากร เหล่านี้จะเป็นการ “คืนความสุข” ให้กับคนไทยอย่างเป็นรูปธรรม ในที่สุดแล้วหากประชาชนอยู่ดีมีความสุข ความหนักใจต่าง ๆ บรรเทาลงก็จะนำมาซึ่งความมั่นคง ความมั่งคั่ง และความยั่งยืนของประเทศไทยในระยะยาว และเป็นการสะท้อนกลับถึงความสำเร็จในการบริหารจัดการบ้านเมืองของฝ่ายรัฐบาล “ความหนักใจ” ของคนไทย ณ วันนี้ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ครับ เพราะเวลาหนักใจหนัก ๆ สุด ๆ แล้ว“ตัน” คลำหาทางออกไม่เจอ ความสุขก็จะจบสิ้นไป และนำไปสู่การฆ่าตัวตาย กลายเป็นความสูญเสียที่สร้างทั้งรอยด่าง รอยแผล และความเจ็บปวดที่ยากแก่การเยียวยาทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และประเทศชาติ ...