แสงไทย เค้าภูไทย
แนวโน้มสงครามยูเครนจะยุติลงในเร็ววันจากการที่ประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศจะพบปะเจรจากัน โดยรัสเซียเสนอเงื่อนไขให้ปล่อยรัฐที่ตนเข้ายึดครองได้เป็นอิสระด้วยการรลงประชามติ แต่ผลตามมา ทั้งน้ำมันแพง เงินเฟ้อ จะยังคงอยูต่อไปอีกนาน
ก่อนหน้านี้ ราคาปุ๋ยทั่วโลกแพงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้มีราคาน้ำมันแพงเข้ามาซ้ำเติม ก็ยิ่งทำให้สินค้าต่างๆในห่วงโซ่การผลิตแพงตาม
เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนสำคัญทั้งในการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง ขณะที่ ปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นผลิตผลจากโรงงานก็เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตภาคเกษตรกรรม
สินค้าอาหารจากภาคเกษตรกรรมจะแพงต่อเนื่องไปตลอดปี
ยิ่งถ้าเกิดภัยแล้งที่ปีนี้คาดว่าจะเกิดการทิ้งช่วงฝนแล้งยาวนานกว่าปกติ ก็จะยิ่งซ้ำเติมยิ่งขึ้น
การที่ปุ๋ยแพงนั้น สาเหตุหลักคือจีนกับรัสเซียจำกัดปริมาณส่งออกเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผสมปุ๋ยเคมี ไม่ว่าจะเป็นยูเรีย ไนโตรเจนฟอสฟอรัสหรือโพแตสเซียม ด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security)
ไทยนำเข้าทั้งวัตถุดิบและปุ๋ยสูตรผสมเสร็จ (NPK) กว่า 90% โดยชาติที่นำเข้ามากที่สุด 5 ประเทศคือซาอุดีอาระเบีย จีน รัสเซีย มาเลเซีย และการ์ตา
มีการแนะนำให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี
แต่เกษตรกรไทยทุกวันนี้ปลูกพืชในรูปแบบแปลงใหญ่ ( plantation) ซึ่งการใช้ปุ๋ยเคมีจะให้ผลผลิตหนาแน่น (mass production) ดีกว่าการใช้ปุ๋ยหมัก
เมื่อขาดแคลนปุ๋ยเคมี กำลังผลิตและผลผลิตก็ย่อมจะลดลง
คนไทยประสบภาวะสินค้าอาหารราคาแพงอยู่แล้ว ก็จะเจอภาวะที่แพงเพิ่มขึ้น รุนแรงขึ้น
เรื่องราคาน้ำมันนั้น แพงขึ้นทุกวัน ก๊าซหุงต้มที่เป็นความจำเป็นทั้งในครัวเรือนและผู้ประกอบการร้านอาหาร ตั้งแต่ร้านริมทาง แผงลอยข้าวแกง ไปจนร้านติดแอร์ เดือดร้อนกันทั่ว
หลังวันที่ 31 มีนาคมนี้ ก๊าซหุงต้มจะขึ้นราคากิโลกรัมละ 1 บาท ก๊าซที่ใช้ตามบ้านเรือนนั้น ส่วนใหญ่เป็นถังละ 15 กิโลกรัม เพิ่ม 15 บาท คงไม่เดือดร้อนอะไรมากนัก
แต่สำหรับร้านค้าบริการอาหาร เดือดร้อนแน่
อีกด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมก่อสร้างกำลังเผชิญความขาดแคลนเหล็กก่อสร้างที่นับวันจะรุนแรง
โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มีการชะลอโครงการกันทั่วไป เช่นเดียวกันกับการต่อเติมบ้านเรือน
อุตสาหกรรมก่อสร้างมีการจ้างงานหลักแสนคน การชะลอโครงการหรือหยุดการก่อสร้างหมายถึงการจ้างงานลดลงด้วย
ความเดือดร้อนด้วยราคาน้ำมันแพงนี้ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลังเสนอให้รัฐบาลลดภาษีน้ำมันลง คิดรวมๆแล้ว 1 แสนล้านบาท
เท่ากับว่า รัฐชดเชยราคาน้ำมันให้ทุกภาคส่วนที่บริโภคน้ำมัน 1 แสนล้านบาท ยังผลให้สินค้าในห่วงโซ่การผลิตลดหรือตรึงราคาในมูลค่าเดียวกัน
ส่วนข้อเสนอให้ลดการใช้จ่ายภาครัฐลง 1 แสนล้านบาทควบคู่กันไปนั้น น่าจะทำได้หากคิดจะทำ
แต่ถ้าไม่คิดจะทำ ก็ตัดค่าใช้จ่ายส่วนที่ค้างเบิกจ่ายในปีงบประมาณส่งคืนคลังไป
เพราะทุกปีงบประมาณ มีการค้างจ่ายเมื่อสิ้นปีงบประมาณกว่า 70,000 ล้านบาททุกปี
คือตั้งตัวเลขงบประมาณสูงเข้าไว้ แต่กลับใช้ไม่หมด เป็นอย่างนี้ทุกปีงบประมาณ
ตัดเอาส่วนนี้มาใช้ช่วยเหลือพยุงราคาสินค้าและช่วยเหลือเกษตรกรดีไหม ?