ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดแผนแม่บทการปฏิรูปการศึกษาให้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั่วประเทศ เมื่อ 15 กันยายนที่ผ่านมา มีครบทุกระดับ ทุกเรื่องที่เป็นประเด็นของปัญหาสะสมในการพัฒนาการศึกษาของชาติ นับเป็นอีกมิติหนึ่งในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ครบเครื่อง เพียงแต่การปฏิบัติเท่านั้นจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ เพราะแผนทั้งหมดได้เตรียมไว้เพื่อเป็นนโยบายและเครื่องมือของรัฐบาลชุดใหม่ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามโรดแมปในปีหน้า ทำอย่างไรจึงจะถูกกำหนดไว้ให้รัฐบาลทุกชุดต้องบริหารจัดการตามแผนแม่บทการศึกษาเหล่านั้นให้เป็นรูปธรรม การพัฒนาการศึกษาคงไม่ลืมการพัฒนาธรรมาภิบาลที่มีปัญหากับทุกระดับการศึกษา เป็นปัญหาของตัวบุคคลทั้งสิ้น มิได้เกี่ยวกับระบบธรรมาภิบาลที่กำหนดไว้แล้ว แต่ถูกละเลยจึงเป็นชนวนของการทำงานไม่เข้าขากันระหว่างสภามหาวิทยาลัยกับผู้บริหารในระดับอธิการบดี ที่เป็นข่าวผุดขึ้นมามากมาย และเรียกร้องให้ใช้ ม.44 มาขจัดปัญหาเหล่านั้น หากไม่ทุบโต๊ะ เชื่อได้ว่าปัญหาจะเกิดตามมาอีกทั้งสถาบันของรัฐและเอกชน การคิดจะแยกอุดมศึกษาออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการก็ยังไม่ตกผลึก หากแยกออกมาแล้วปัญหาธรรมาภิบาลในองค์กรหายไปหรือน้อยลง น่าจะเป็นเหตุผลข้อหนึ่งเท่านั้น คงต้องมีเหตุผลเพิ่มเติมว่าแยกแล้วจะเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 ตามแนวทางปฏิรูปการศึกษาหรือไม่ น่าจะเป็นประเด็นหลัก ยุคการใช้อำนาจตาม ม.44 สำหรับนักการเมืองและข้าราชการที่หลงผิดตามนักการเมือง จะเป็นบทเรียนที่ควรจดจำ ดังกรณีการรับจำนำข้าว และการขายข้าวแบบจีทูจี ที่บิดเบือน หวังผลประโยชน์ของนักการเมือง แต่ข้าราชการต้องพลอยฟ้าพลอยฝนไปกับคดีเหล่านั้นด้วย บทเรียนเช่นนี้คงเป็นบทเรียนให้แก่ช้าราชการยุคปัจจุบันและยุคต่อไปได้ตระหนักถึงความถูกต้องมากกว่าถูกใจ โดยตัวเองต้องรับทุกข์ รับโทษไปกับเขาด้วย เพราะคำสั่งที่ไม่มีหลักฐานเอกสารของผู้สั่งการ อย่าลืมว่ายุคนี้เป็นยุคดิจิทัล กฎแห่งกรรมจะติดตามมาอย่างรวดเร็วไม่ต้องรอถึงชาติหน้า กระทรวง ICT จึงถูกเปลี่ยนเป็นกระทรวงที่มีชื่อใหม่ พร้อมจะรองรับกับเศรษฐกิจดิจิทัลและข่าวสารที่เปิดเผยให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน ข้าราชการพึงต้องนึกถึง “ความถูกต้อง” มากกว่า “ความถูกใจ” ของนายหรือนักการเมืองกันเสียเถอะครับ