เสือตัวที่ 6
ความตึงเครียดในภูมิภาคของชาติตะวันตกที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมากจนส่งผลสะท้านไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วทั้งโลก ระหว่างมหาอำนาจทางอาวุธนิวเคลียร์อย่างรัสเซียที่มีพันธมิตรอันแนบแน่นกับสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เป็นมหาอำนาจอาวุธนิเคลียร์เช่นกันกับยูเครนภายใต้การหนุนหลังจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสมาชิกกลุ่มนาโต้(NATO) ที่มีมหาอำนาจในทุกมิติอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งต่างฝ่ายต่างแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวเข้าใส่กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายรัสเซียภายใต้การนำของปูติน ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศมาอย่างยาวนานกว่าผู้นำของประเทศใดๆ ในความขัดแย้งครั้งนี้ ทำให้ท่าทีที่แสดงออกของรัสเซียตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลทางจิตวิทยาต่อผู้นำชาติต่างที่เป็นคู่กรณีอย่างมาก เพื่อต่อต้าน ยับยั้งการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกองค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่ผ่านมา จวบจนปรากฏการณ์ล่าสุดนี้ จึงสร้างความวิตกต่อผู้นำประเทศในกลุ่ม NATO ที่ห่วงกังวลต่อภาวะสงครามใหญ่ในการตัดสินใจใช้กำลังกองทัพบุกยูเครนของรัสเซีย จนกระทั่ง นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เห็นว่ามี หลักฐานที่ชัดเจนอย่างมากว่า รัสเซียจะรุกรานยูเครนจริง โดยวิเคราะห์จากท่าทีที่สะท้อนให้เห็นว่ารัสเซียกำลังเตรียมการอย่างจริงจังอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
และนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ก็ยังเรียกร้องให้รัสเซียหันหน้ามาเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงการบุกโจมตีที่มีแต่จะก่อให้เกิดหายนะของทุกฝ่าย เพราะต่างฝ่ายต่างมีอาวุธทำลายล้างสูงอย่างอาวุธนิเคลียร์อันเป็นอาวุธที่หากมีการใช้แล้ว จะเกิดหายนะในวงกว้างอย่างที่ประเมินความเสียหายไม่ได้ ทั้งยังเห็นด้วยว่า ชาติตะวันตกโดยเฉพาะที่เป็นสมาชิกกลุ่ม NATO ที่มีมหาอำนาจในทุกด้านอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ จะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากถึงเวลาต้องคว่ำบาตรรัสเซียทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ซึ่งนั่นหาได้ทำให้ท่าทีของผู้นำรัสเซียเกิดความสะทกสะท้านใดๆ ไม่ ทำให้ขณะนี้ชาติต่าง ๆ มากกว่า 12 ประเทศ รวมทั้งสหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ได้ขอให้พลเมืองของชาติตน เร่งเดินทางออกจากยูเครนโดยด่วน ทั้งได้ย้ำเตือนพลเมืองของชาติตนว่า โอกาสที่รัสเซียจะรุกรานยูเครนด้วยกองทัพนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ
แท้ที่จริงแล้ว ความตึงเครียดที่ทวีความเข้มข้นในภูมิภาคนี้ ส่วนใหญ่แล้ว เป็นการส่งสัญญาณจากผู้นำชาติตะวันตกที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัสเซีย โดยตอกย้ำอย่างต่อเนื่องว่า ในสถานการณ์ขณะนี้ เป็นภาวะใกล้จะเกิดสงครามอย่างชัดเจน ภาวะใกล้จะเกิดสงครามในยูเครนครั้งนี้ ล้วนสะท้อนมาจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหราชาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยบรรดาผู้นำชาติตะวันตก ต่างกล่าวอ้างว่า ได้พยายามหาทางออกไม่ให้เกิดสงคราม แต่ในทางตรงข้าม โฆษกของนายจอห์นสัน ผู้นำสหราชอาณาจักร กลับออกมาระบุว่า ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะบ่งบอกได้ว่า รัสเซียจะยอมถอย หรือล้มเลิกความตั้งใจในการใช้กำลังทหารรุกรายยูเครน ทั้งยังตอกย้ำความตึงเครียดให้ทวีความรุนแรงต่อไปอีกว่า อังกฤษมีความเป็นห่วง กังวลเป็นอย่างยิ่งที่รัสเซียจะบุกยูเครนจริง ในเวลาเดียวกันกระทรวงกลาโหมอังกฤษ ยังเพิ่มระดับความตึงเครียดเข้าไปอีกว่า ภูมิภาคยุโรปในขณะนี้ กำลังเดินหน้าเข้าใกล้สงครามครั้งใหม่มากที่สุดในรอบ 70 ปี เหล่านี้ คือส่วนสำคัญที่รัสเซียกลับเห็นว่า ชาติตะวันตกซึ่งเป็นพันธมิตรกับยูเครน โดยเฉพาะสหรัฐฯกำลังยั่วยุรัสเซียให้เดินหน้าเข้าสู่สงคราม ทั้งที่รัสเซียเองก็แสดงเจตนาในการเคลื่อนกำลังพลเรือนแสนพร้อมยุทโธปกรณ์ทางทหารครั้งใหญ่ในหนนี้ เพื่อแสดงออกถึงการยับยั้ง ไม่ให้ NATO รับยูเครน เป็นสมาชิก และเพื่อแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยที่ยูเครนจะยอมให้ใช้พื้นที่ของตน ในการติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ของกลุ่มประเทศ NATO ซึ่งรัสเซียเห็นว่า เป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัสเซียโดยตรง หากแต่รัสเซียก็ยังส่งสัญญาณอย่างชัดเจนเสมอมาว่า รัสเซียปฏิเสธว่า ไม่ได้มีความตั้งใจหรือแผนการใดๆ ที่จะโจมตียูเครน แม้ว่าขณะนี้ได้วางกำลังทหารราว 1 แสนนาย ที่พรมแดนด้านที่ติดกับยูเครน นอกจากนี้มีรายงานว่า มีกองทหารรัสเซียอีกราว 3 หมื่นนาย ประจำการอยู่ใกล้ชายแดนเบลารุส-ยูเครน ก็ตาม
หากแต่สิ่งที่รัสเซียแสดงกำลังทางทหารหนนี้อย่างมโหฬารนั้น เพียงต้องการคำยืนยันจากบรรดาหัวเรือใหญ่ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ว่า จะไม่รับยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารที่ทรงพลังมากที่สุดในขณะนี้ที่อยู่ใกล้กับรัสเซีย เพราะที่ผ่านมา รัสเซียได้ส่งสัญญาณในการต่อต้านไม่ให้ NATO รับยูเครน เป็นสมาชิกตลอดมา หากแต่ NATO ก็หาได้ใส่ใจหรือให้ความสำคัญต่อความกังวลของรัสเซียไม่ รัสเซียจึงต้องแสดงออกด้วยการเคลื่อนพลจำนวนมากในหนนี้ ซึ่งรัสเซียกลับมองว่า เขาทำเพื่อป้องตนเองจากการคุกคามของ NATO ต่างหาก เพราะชาติสมาชิก NATO เพิกเฉย ไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของรัสเซียด้วยดี ขณะที่สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือจี 7 กลับเตือนอันเป็นการยั่วยุรัสเซียว่า รัสเซียจะต้องเผชิญมาตรการแทรกแซงทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง หากบุกยูเครนจริง ซึ่งรัสเซียหาได้วิตกไม่ โดยรัสเซียขู่กลับว่าจะตอบโต้ชาติตะวันตกทั้งหลายเหล่านั้นให้ได้ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงเช่นกัน เมื่อรัสเซียไม่ส่งแก๊สให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ในการต่อสู้กับภัยหนาวที่กำลังเกิดขึ้น
ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น จึงเห็นได้ว่า แม้จะเป็นความเปราะบางจากภาวะใกล้จะเกิดสงคราม ที่ผู้นำชาติตะวันตกทั้งหลายจะพยายามตีฆ้องร้องป่าวให้ชาวโลกได้เห็น หากแต่แท้ที่จริงแล้ว การที่ต่างฝ่ายต่างมีอาวุธทำลายล้างสูงอย่างเช่นนิวเคลียร์ ตลอดจนศักยภาพทางทหารในยุคนี้ที่มีอานุภาพสูงยิ่ง รวมทั้งต่างฝ่ายต่างมีพันธมิตรยักษ์ใหญ่ไม่แพ้กัน ย่อมส่งผลให้ทุกฝ่ายต้องคิดหนักจนไม่อยากให้เกิดสงครามกันจริงๆ และโดยเนื้อแท้แล้ว การแสดงกำลังของรัสเซียห้วงนี้ มีเป้าประสงค์ระดับสูงสุด คือการที่รัสเซียต้องการให้กลุ่ม NATO หันมาให้ความสำคัญกับความต้องการของรัสเซีย จนกระทั่งในท้ายที่สุด ยูเครนยังอยู่ในสถานะเดิมดังที่เป็นอยู่ เท่านี้ก็นับว่าบรรลุเป้าหมายระดับยุทธศาสตร์ของรัสเซียแล้ว ดังนั้นสงครามใหญ่ในจินตนาการ จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง