รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อีกไม่กี่วันก็จะถึงเทศกาลตรุษจีนหรือเทศกาลวันปีใหม่ของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน วันตรุษจีนปีนี้ ตรงกับวันอังคารที่ 1 ก.พ. ซึ่งก่อนถึงวันตรุษจีนก็เหมือนเช่นทุกปี พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนก็จะออกไปจับจ่ายซื้ออาหาร ผลไม้ และเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ เช่น หมู เป็ด ไก่ ปลา ปลาหมึก กุ้ง เหล้า น้ำชา ส้ม กล้วย แอปเปิล สาลี่ ส้มโอ กระดาษเงินกระดาษทอง ฯลฯ เพื่อไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ และบรรพบุรุษ เพราะเชื่อว่าการไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษจะทำให้ชีวิตเป็นสิริมงคล เฮง และรุ่งเรืองตลอดปีใหม่ แม้ว่าช่วงตรุษจีนข้าวของจะแพงขึ้นแต่พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนก็ยอมและยินดีควักเงินจ่ายมากบ้างน้อยบางตามแรงศรัทธาและกำลังทรัพย์ แต่ดูเหมือนปีนี้จะแตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา เพราะเกิด ‘ปัญหาข้าวของแพง’ ตั้งแต่ต้นเดือนม.ค.กันเลยทีเดียว เริ่มจากหมู ลามไปไก่ เป็ด ไข่ ผลไม้ และสินค้าอื่น ๆ เช่น ก๊าซหุงต้ม น้ำมัน ไฟฟ้า ฯลฯ ทำให้พี่น้องชาวไทยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจนเกิดวาทกรรม “แพงทั้งแผ่นดิน” ส่งผลกระทบต่อปากท้องของประชาชนทุกระดับ แต่ รากหญ้าคือกลุ่มก้อนที่กระเทือนหนักสุด แม้แต่พระเองยังเห็นใจคืนซองปัจจัยที่โยมถวาย พร้อมเติมปัจจัยบวกเพิ่มให้อีก สำหรับเป็นทุนอาหารกลางวันให้กับตำรวจผู้น้อยทั้งโรงพัก สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาย้ำว่าราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในระยะสั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยมากที่สุด และจะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของธปท.ที่ต้องจับตา “ภาวะเงินเฟ้อ” อย่างใกล้ชิด กระทรวงการคลังก็เปิดปากยอมรับว่าราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ว่าอาจทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าการใช้จ่ายประชาชนจะยังอยู่ในภาวะปกติ แม้ว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่อรายจ่ายของประชาชน แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการคือ กำกับดูแลราคาสินค้าไม่ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก และล่าสุดครม.เคาะ งบกลาง 1,480 ล้านบาท จัดโครงการพาณิชย์ ลดราคา! เพื่อช่วยประชาชนทุกจังหวัด โดยจัดจุดลดราคาสินค้า 3,000 แห่ง หวังกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าและแก้ปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาข้าวของแพงลามไม่หยุดฉุดไม่อยู่นี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวท่านนายกฯประยุทธ์ ดังจะเห็นได้ว่าคะแนนความนิยมของตัวท่านนายกฯลดลงอย่างมาก ฝากพรรคฝ่ายค้านที่จดจ้องอยู่และนำไปเป็นประเด็นขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 โดยขอยื่นญัตติกับประธานรัฐสภาเพื่อกำหนดวันอภิปรายประมาณกลางเดือนก.พ. นี้ รัฐบาลจึงต้องเร่งสางปัญหาข้าวของแพงด้วยการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค มิฉะนั้นแล้ว หากรัฐบาลเคลียร์ปัญหาข้าวของแพงพลาดก็จะแพ้พ่าย ขยายผลสู่เกมขั้นต่อไปของขั้วพรรคฝ่ายค้านคือ การเปิดขออภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติในช่วงเดือนพ.ค. และอาจเลยเถิดไปถึงขั้นพ่ายศึกการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อมีเหตุต้องยุบสภาก่อน ครบเทอม ส่วนการใช้ชีวิตของประชาชนยุคเศรษฐกิจฝืด ‘ข้าวของแพง’ ท่ามกลางโรคระบาด “โควิด-19” ที่ยังมีอยู่ นอกจากโครงการพาณิชย์ ลดราคา! แล้วยังมีโครงการช่วยเหลืออื่น ๆ อีกที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือผู้ซื้อต่างได้รับอานิสงส์หรือประโยชน์ที่รัฐบาลจัดให้ช่วงนี้กว่า 5.18 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 (8,070.724 ล้านบาท) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 (34,800 ล้านบาท) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 (1,351.981 ล้านบาท) และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 4 (9,000 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานกลับประกาศสวนทางเลิกตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ขนาด 15 กก. ราคา 318 บาท ในวันที่ 1 ก.พ. นี้ ขณะที่รัฐบาลหวังกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนผ่านกลไกขับเคลื่อนของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ ประกอบกับก่อนหน้านี้มีกูรูเศรษฐกิจคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่า “จะเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นอย่างชัดเจนราว 3.9% โดยอาศัยการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในประเทศทั้งการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยวหลังจากมีอัตราการฉีดวัคซีนกระจายทั่วถึงมากขึ้นเศรษฐกิจของประเทศจะเริ่มกลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้ง” เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวตามคาดการณ์หรือไม่คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพราะ “ข้าวของแพง” กลายเป็นปัจจัยแทรกซ้อนที่ซ้ำเติมปัญหาเดิมเศรษฐกิจไทยที่ยังแก้ไม่หลุดโดยเฉพาะหนี้สินครัวเรือน และการท่องเที่ยวที่พังเซ่นพิษโควิด-19 สวนดุสิตโพลจึงสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ข้าวของแพง” ครอบคลุมประเภทสินค้าที่แพงกว่าปกติ สาเหตุที่ทำให้สินค้าแพง การแก้ปัญหาสินค้าแพง สิ่งที่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาสินค้าแพง หน่วยงานที่จะช่วยแก้ปัญหาสินค้าแพง ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาสินค้าแพง และระยะเวลาที่สามารถแบกรับภาระสินค้าแพง เพื่อเป็นการสะท้อนถึงการใช้ชีวิตของคนไทยในยุคข้าวของแพง ณ วันนี้...