เสือตัวที่ 6
การถ่ายทอดความคิดต่างจากรัฐและการดำเนินการของรัฐที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า สภาพปัญหาอันเกิดจากแนวคิดอันแปลกแยกแตกต่างจากรัฐ ของผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงฯ ที่อยู่ในแดนลับจากการรับรู้ของสังคมภายนอก อย่างเรือนจำในพื้นที่แห่งนี้ ยังมีความหวาดระแวงรัฐและคุกรุ่นอยู่ในใจตลอดมา และมีแนวโน้มที่จะมีความคับข้องใจมากขึ้นๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไปหากหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะระดับนโยบายยังให้ความสำคัญต่อกระบวนการถ่ายทอดสืบต่อแนวคิดแปลกแยกจากรัฐเหล่านี้ไม่มากเท่าที่ควร แม้กระบวนการในสถานที่เหล่านี้ จะมุ่งเน้นการผ่อนคลายความตึงเครียดของผู้ต้องขังตามวิถีของคนในพื้นที่ที่เป็นผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงที่ยังเหนียวแน่นต่อวิถีปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ตนนับถือศรัทธาอย่างเคร่งครัด แต่กระบวนการของเรือนจำ ก็ยังมีเป้าประสงค์ในการปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติให้สอดรับกับวิถีทางศาสนาที่เน้นให้การควบคุมบรรดาผู้ต้องขังในเรือนจำให้อยู่อย่างสงบเรียบร้อย โดยที่ยังไม่ได้มุ่งเน้นที่การผ่อนคลายวิธีการต่างๆ เพื่อสนองเป้าประสงค์ด้านความมั่นคงในพื้นที่ปลายด้ามขวานเป็นสำคัญ
ผู้ต้องขังเกือบทั้งหมดในคดีความมั่นคง จะสามารถผ่อนคลายความอึดอัดใจในการถูกจองจำไปบ้าง แต่ก็ด้วยการผ่อนคลายความเครียดด้วยหลักคำสอนทางศาสนาที่ตนเองเคารพนับถือ โดยส่วนใหญ่ยังคงใช้แนวคิดตามคำสอนที่ว่า ทุกสิ่งที่เกิดกับตนเอง แม้แต่การถูกจองจำในเรือนจำนั้น ก็เป็นประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งได้ลิขิตไว้แล้ว หากแต่นั่น ก็ไม่ได้ทำให้ความคิดแปลกแยก แตกต่าง ขัดแย้งจากรัฐลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด ในขณะที่กระบวนการทำความเข้าใจรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของผู้ต้องขังโดยรัฐเหล่านั้น ยังไม่มีการดำเนินการเท่าที่ควร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สภาพการดำรงอยู่ทางความคิดคับข้องใจของผู้ต้องขังและถูกส่งต่อไปยังญาติพี่น้องและครอบครัว ตลอดจนเพื่อนในชุมชน ที่มีต่อกระบวนการพิจารณาคดีของรัฐ ก็ยังคงมีอยู่ต่อไป โดยรัฐ ยังไม่ให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาที่จะมีผลสืบเนื่องต่อไปยังความเห็นต่างจนถึงขั้นเคียดแค้นเหล่านี้เท่าที่ควร
ด้วยเหตุที่หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่เห็นว่า เมื่อกระบวนการยุติธรรม ถึงที่สุดแล้ว ทุกอย่างก็เป็นอันจบไป และหมดสิ้นการดำเนินการใดๆ ของรัฐอีกต่อไป รวมทั้งระบบและกระบวนการบริหารจัดการของเรือนจำของรัฐนั้น เปรียบเสมือนพื้นที่ปิด จึงไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ นักวิชาการ เข้าไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกในอีกแง่มุมหนึ่งในเรือนจำหรือสถานกักขังเหล่านี้ได้เท่าที่ควร จึงขาดโอกาสในการเข้าใจรับรู้ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนรูปแบบการส่งต่อ สืบเนื่องความคิดที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นช่องว่างเล็กๆ ที่อาจเป็นผลสืบเนื่องทำให้เกิดการพลิกฟื้นของความขัดแย้งในพื้นที่ในรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะการพลิกฟื้นวิธีการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธจนอาจลุกลามไปเป็นความขัดแย้งด้วยอาวุธในพื้นที่ได้ อันเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐของขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ในอนาคต
นอกจากนั้น รัฐเองยังไม่มีกระบวนการในการสานต่อกระบวนการแก้ปัญหาการส่งต่อ สืบเนื่องความคิดความเชื่อในลักษณะดังกล่าวอย่างชัดเจนและเป็นระบบ โดยเฉพาะกระบวนการที่ควรจะมุ่งเน้นไปที่การสนองตอบงานด้านความมั่นคงปลายด้ามขวานเป็นสำคัญ มากกว่ากระบวนการยุติธรรมที่มุ่งสนองตอบเป้าประสงค์การหล่อหลอมให้ผู้พ้นโทษ สามารถออกไปใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมเฉกเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ เป็นสำคัญ ทั้งกลุ่มคนที่เป็นผู้ต้องขัง ตลอดจนญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวของผู้ต้องขัง ที่ยังขาดการดูแล ให้แนวคิดและความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสมเท่าที่ควร ด้วยรัฐ ยังขาดหน่วยงานเจ้าภาพที่จะเป็นหน่วยงานในการบูรณาการการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการบูรณาการกระบวนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบระหว่างกระทรวงยุติธรรมโดยเรือนจำ กับหน่วยงานความมั่นคง และกระทรวงหรือหน่วยงานในการศึกษานอกระบบ การพัฒนาอาชีพ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งหน่วยงานส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงภยันตรายที่กำลังก่อตัวขึ้นเงียบๆ ซึ่งกำลังถูกส่งต่อความขัดแย้งกับรัฐบนเงื่อนไขของการไม่ได้รับความเป็นธรรมในระบบยุติธรรมของรัฐ โดยส่งผ่านไปยังเพื่อนผู้ต้องขัง และสืบเนื่องไปถึงกลุ่มคนในครอบครัวและเพื่อนในชุมชนจนขยายเป็นวงกว้างในความเห็นต่างและออกห่าจากรัฐอย่างเงียบๆ เป็นวงกว้าง ประดุจดังกำลังก่อตัวของคลื่นใต้น้ำ ที่พร้อมจะถาโถมเข้าหาฝั่งเมื่อโอกาสอำนวย
ณ วันนี้ ปรากฏการณ์ของการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ตั้งแต่ปลายปี 64 มาจนถึงเดือนแรกของปีใหม่ 2565 ก็ยังคงอยู่ต่อไป อาทิ 7 ม.ค. เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดรถบรรทุกหกล้อของเจ้าหน้าที่ทหารพราน ร้อย ทพ.4304 สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 บนถนนสาย 418 เส้นทางบ้านมะพร้าวต้นเดียว-แยกดอนยาง หมู่ 6 ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุเพียง 6 กม. เหตุนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารพรานได้รับบาดเจ็บจำนวน 4 นาย และเมื่อ 18 ม.ค. 65 เหตุคนร้ายจุดชนวนระเบิดดักสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สภ.จะแนะ บนถนนสายจะแนะ-ดุซงญอ ช่วงบริเวณบ้านจะแนะ ม.2 ต.จะแนะ จ.นราธิวาส แม้ว่าเหตุร้ายครั้งนี้ จะไม่มีเจ้าหน้าที่ได้รับอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หากมันได้บ่งบอกว่า ยังมีกลุ่มคนที่ถูกส่งต่อแนวคิดเกลียดชังจนถึงขั้นรุนแรงด้วยหมายเอาชีวิตคนเห็นต่างดังกล่าว
แม้จะเป็นการก่อเหตุที่มีไม่บ่อยครั้งเหมือนช่วงแรกๆ ของการต่อสู้ยุคใหม่หลังปล้นปืน 2547 หากแต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ความเห็นต่าง จนเป็นความเคียดแค้นชิงชังจนหมายเอาชีวิตเจ้าหน้าที่รัฐและคนไทยที่มีความต่างทางความเชื่อทางศาสนานั้น ยังคงมีช่องว่างที่คนกลุ่มหนึ่ง ถูกทำให้เชื่อว่า พี่น้องของพวกเขา ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐอย่างต่อเนื่อง เป็นการถ่ายทอด ส่งต่อความคิดแปลกแยกทั้งในชุมชน สถานศึกษาในพื้นที่ และในสถานที่จำขังในพื้นที่ให้ขยายเป็นวงกว้างสู่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงของผู้ต้องขังอย่างเงียบๆ จนเป็นความรุนแรงที่เป็นผลสืบเนื่องให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งหากหน่วยงานด้านความมั่นคงระดับชาติ ยังคงมุ่งมั่นสกัดกั้นกระบวนการบ่มเพาะเพื่อส่งต่อ ถ่ายทอดความเห็นต่าง สุดโต่งเหล่านี้ในหลากหลายวิธีการ ในหลากหลายพื้นที่ให้จริงจังต่อเนื่องต่อไปจนกว่ากระบวนการส่งต่อบ่มเพาะแนวคิดที่เป็นภัยต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติจะสิ้นซากอย่างแท้จริงแล้ว ก็เชื่อว่า การก่อเหตุร้ายทำลายล้างกันด้วยความรุนแรงนี้ จะไม่เกิดผลสืบเนื่องที่เกิดจากความคิดสุดโต่งให้เราเห็นอีกต่อไป