เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2016 ศาสนจักรคาทอลิกได้ประกาศตั้ง “คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา” เป็นนักบุญ ด้วยพิธีกรรมหน้ามหาวิหารเซ็นปิเตอร์ที่กรุงโรม โดยพระสันตะปาปาฟรันซิสเป็นประธาน มีการถ่ายทอดสดพิธีดังกล่าวไปทั่วโลก
คุณแม่เทเรซาเป็นที่รู้จักทั่วโลกมานานกว่าครึ่งศตวรรษเพราะการทำงานกับคนจนโดยเฉพาะที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ท่านได้รับรางวัลมากมายจากทั่วโลก เช่น รางวัลแมกไซไซ (1962) รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (1979) และรางวัลอื่นๆ จากรัฐบาลและเอกชนนับไม่ถ้วน และจากการสำรวจของโพลอเมริกัน คุณแม่เทเรซาเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องชื่นชมมากที่สุดในศตวรรษที่ 20
คุณแม่เทเรซาเป็นแม่ชีคาทอลิกชาวอัลบาเนียผู้ก่อตั้งคณะนักบวชหญิง “มิชชันนารีแห่งเมตตา” (Missionaries of Charity) ซึ่งเมื่อปี 2013 มีสมาชิกอยู่ 4,500 คน ทำงานอยู่ใน 133 ประเทศ ดูแลบ้านผู้ป่วยเอดส์ในขั้นสุดท้าย คนโรคเรื้อนและวัณโรค สถานพยาบาลและคลีนิกเคลื่อนที่ ให้การปรึกษาเด็กและครอบครัว ดูแลสถานเด็กกำพร้า โรงเรียนเด็กยากจนและงานอื่นๆ เกี่ยวกับคนจน
งานของบรรดาแม่ชีเหล่านี้ไม่ได้อยู่แต่ในประเทศกำลังพัฒนาและยากจนเท่านั้น แต่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็มี แม้ว่าอาจเป็นรูปแบบอื่น
คุณแม่เทเรซาเคยบอกไว้ในวันที่รับรางวัลโนเบลเมื่อถูกถามว่า “เราจะทำอย่างไรจึงจะส่งเสริมสันติภาพโลก” ท่านตอบว่า “กลับไปบ้านและรักครอบครัวของท่าน” และอธิบายต่อว่า “ถ้าฉันพบคนหิวโหยข้างถนน ให้อาหารก็ช่วยกำจัดความหิวได้ แต่กับคนที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่เดียวดาย ไม่มีใครต้องการ ไม่มีใครรัก มีแต่ความกลัว นั่นคือความยากจนที่รุนแรงยิ่งกว่าและยากยิ่งที่จะกำจัด”
ในปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งหลังจากรับรางวัล คุณแม่เทเรซาเรียกร้องให้ “รู้จักคนจนในบ้านของคุณเองและในชุมชนที่คุณอยู่” และช่วยเหลือคนเหล่านั้นไม่ว่าจะด้วยอาหารหรือเพียงแต่ทำให้เกิดความยินดีและมีความสุขโดย “ทำสิ่งเล็กๆ ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่”
ประโยคสุดท้ายนั้น ท่านย้ำหลายครั้งในการพูดหรือให้การสัมภาษณ์เกี่ยวกับงานที่ท่านทำ โดยท่านไม่เคยอวดอ้างว่าได้ทำอะไรยิ่งใหญ่เลย ท่านเพียงแต่อยากช่วยเหลือคนที่หิวโหย เจ็บป่วย เป็นทุกข์ที่ไม่มีคนช่วยเหลือ นั่นคือความหมายของสิ่งเล็กๆ ที่ทำด้วยหัวใจอันยิ่งใหญ่
คุณแม่เทเรซาได้รับการยกย่องจากทั่วโลกก็จริง แต่ก็มีคนที่ไม่เห็นด้วยและวิพากษ์วิจารณ์ท่านและงานของท่านตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งถึงกระบวนการประกาศให้ท่านเป็น “นักบุญ” บ้างก็ว่าท่านนำเงินที่ได้รับบริจาคมากมายไปทำสิ่งที่ทำให้ปัญหาความยากจนคงอยู่และไม่ได้รับการแก้ไข ท่านน่าจะทำงานเพื่อแก้สาเหตุของความยากจนมากกว่าแก้ที่ปลายเหตุ
แม้แต่ในกระบวนการประกาศแต่งตั้งคุณแม่เทเรซาเป็น “บุญราศรี” (beatification) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2003 และการแต่งตั้งเป็นนักบุญในเวลาต่อมา ทางสำนักวาติกันก็ได้สอบสวนทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะคนที่มีชื่อเสียงว่าเป็น “ทนายปีศาจ” และหลังจากที่มีการยืนยันเรื่องราวของการหายจากโรคร้ายว่าเป็น “อัศจรรย์” ที่คุณแม่เทเรซาได้ช่วยผู้ป่วย จึงได้มีการสรุปและประกาศเป็นนักบุญ
ความจริง “อัศจรรย์” ถือว่าเป็นส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้น คือ ชีวิตทั้งชีวิตของท่าน สิ่งที่ท่านทำ ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนนับล้านๆ ทั่วโลกให้รำลึกถึง “คุณค่าแห่งความเมตตา” ต่อผู้อื่น และแสดงออกในทุกสถานการณ์ ทุกที่ทุกเวลา เริ่มจากที่บ้านของตนเอง
การกระทำของคุณแม่เทเรซาได้กระตุ้นเตือนรัฐบาล หน่วยงานต่างๆ ไม่ให้ “มองข้าม” ปัญหาความยากจน ความทุกข์ยากของผู้คนด้วยความเย็นชา มองไม่เห็นคนจน คนชายขอบ คนพิการ คนเจ็บป่วย ไร้ญาติขาดมิตร ซึ่งยังมีอยู่มากมายเป็น “วงเวียนชีวิต” ในสังคม
การที่ท่านได้รับการยกย่อง ได้รับรางวัลมากมายจากทั่วโลกก็เพราะเรื่อง “เล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่” นี้ โดยไม่มีใครปฏิเสธว่า จำเป็นต้องมีคนอย่างมหาตมะคานธี คนอย่างเนลสัน แมนเดลา คนที่ต่อสู้เพื่อการ เปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาระบบโครงสร้างที่เป็นต้นเหตุหลักของปัญหาความยากจน
รูปแบบการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ความไม่เป็นธรรมในสังคมจึงมีอยู่มากมายหลายรูปแบบในทุกวงการ จะทำงานแบบมูลนิธิฉือจี้ที่ไต้หวัน หรือแบบ “พิเซษฐ สไมล์บัฟฟาโล” ผู้สร้าง “โรงทานถาวร” ให้คนยากคนจน คนหิวโหยมีอาหารรับประทานที่ชลบุรี
ไม่ว่าจะรูปแบบใด ใครๆ ที่ทำงานเพื่อคนจนก็ล้วนเป็น “ประกาศก” (prophet) ผู้ประกาศสัจธรรม เตือนสติผู้คน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจทั้งหลายที่ได้ก่อให้เกิดปัญหาความยากจนขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดังที่พระสันตะปาปาฟรันซิสได้ตรัสในพิธีการแต่งตั้งคุณแม่เทเรซาเป็นนักบุญ
และเตือนสติผู้คนทั่วไปให้รำลึกว่า ความถูกต้องและดีงามคืออะไร ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว และไม่สามารถมีความสุขในโลกได้คนเดียว ในโลกใบนี้ที่มีคนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว เหงา บ้า และฆ่าตัวตายเพราะทนอยู่ต่อไปอย่างเดียวดายไม่ได้
“สาร” ของคุณแม่เทเรซา คือ “เมตตาธรรม” จะช่วยค้ำจุนชีวิตผู้คนอีกเป็นจำนวนมาก อย่างที่ท่านบอกว่าที่ไปช่วยคนจนคนป่วยตามถนนเมืองกัลกัตตา “เพียงแต่อยากให้พวกเขารู้ก่อนตายว่า ยังมีคนที่รักพวกเขาอยู่”