รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต Internet Payment หรือการชำระค่าสินค้าและบริการหรือโอนเงินผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยผู้ใช้บริการสามารถเลือกชำระค่าสินค้าและบริการได้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การตัดบัญชีเงินฝากผ่านบริการ Internet Banking การชำระผ่านเว็บร้านค้าออนไลน์ด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต การชำระผ่านเว็บร้านค้าออนไลน์ด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ลดการสัมผัสเงินสด และลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยตัวเลขเกี่ยวกับการการทำธุรกรรมการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การทำธุรกรรมด้วย e-Payment ของคนไทยพุ่งขึ้นร้อยละ 80 โดยคนไทยชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ 243 รายการต่อคนต่อปี (ปี 2562 ทั้งปีมีปริมาณการทำธุรกรรมเพียง 135 รายการต่อคนต่อปี) ลงทะเบียนระบบพร้อมเพย์ 57.7 ล้านบัญชี และปี 2563 มูลค่ารวมของการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking คิดเป็น 40.2 ล้านล้านบาท สูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้านี้กว่าร้อยละ 45.5 สเตฟาน คูม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ลูกค้าปลีกร้านท็อปส์และแฟมิลี่มาร์ทมีสัดส่วนการชำระค่าสินค้าด้วย e-Payment สูงถึงร้อยละ 60 ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ โดยกลุ่มอายุ 35-44 ปีมากที่สุด รองลงมาคือ อายุ 45-54 ปี และ อายุ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนรูปแบบการชำระเงินผ่าน e-Payment ของลูกค้า ประกอบด้วย QR Payment ผ่าน Mobile Banking และพร้อมเพย์, RFID Ship Card, e-Wallet ต่าง ๆ อาทิ Alipay, Dolfin, Rabbit LINE Pay, TrueMoney, WeChat Pay รวมไปถึงการชำระเงินผ่านมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยคาดว่าตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป สัดส่วนของการใช้ e-Payment ของผู้บริโภคจะเพิ่มเป็นร้อยละ 80 และแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนจะเข้ามามีบทบาทแทนที่การชำระเงินด้วยบัตรเครดิตและบัตรเงินสด นอกจากนี้ การศึกษาของ ROI Revolution บริษัทการตลาดออนไลน์ ชี้ว่าช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดผลกระทบสำคัญกับผู้บริโภค คือ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้ e-Commerce มากขึ้นและเร็วขึ้น และหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความต้องการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์นั้นจะกลายเป็นช่องทางการซื้อที่สำคัญมากขึ้น สอดคล้องกับผลการศึกษาของบริษัทวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย ผู้ให้บริการด้านข้อมูลและเทคโนโลยีที่สำรวจพบว่าคนไทยมีอัตราการใช้ช่องทางช็อปปิ้งออนไลน์สูงที่สุดในโลก (ร้อยละ 94) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยินดีชำระเงินซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เฉลี่ย 1,000-8,000 บาท อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้บริโภคสูงอายุไม่ค่อยนิยมซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ และใช้ e-Payment มากนักในการชำระค่าสินค้าและบริการ เพราะรู้สึกไม่สบายใจและไม่ปลอดภัยกับการสั่งซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ เนื่องจากกังวลกับปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์และปัญหาข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล และเห็นว่าการเลือกซื้อสินค้ากับผู้ขายโดยตรงและจ่ายเป็นเงินสดสร้างความมั่นใจได้มากกว่า ปัญหาการใช้ e-Payment ที่เกิดขึ้นล่าสุดคือ ลูกค้าธนาคารจำนวนมากโดนตัดเงินผิดปกติ โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 130 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกรรมผ่านบัตรเดบิต และเกิดจากการซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าออนไลน์ในต่างประเทศ จากข้อมูลข่าวสารและผลการศึกษาเกี่ยวกับ Internet Payment หรือ e-Payment ทั้งในด้านที่เป็นคุณและภัยที่เกิดขึ้น สัปดาห์นี้สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงทำการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยในประเด็นดังกล่าวครอบคลุมเรื่องการชำระเงินผ่านอินเตอร์เน็ตว่าเคยใช้หรือไม่เคยใช้ เหตุผลที่ใช้หรือไม่ใช้ กรณีใช้นำไปชำระสินค้าและบริการประเภทใดบ้าง ปริมาณการใช้ก่อนโควิด-19 กับช่วงมีโควิด-19 ปัญหาจากการใช้ ความเชื่อมั่นในการใช้เชิง ความปลอดภัย ฯลฯ โปรดติดตาม พฤติกรรมการชำระเงินที่เปลี่ยนไปของคนไทย ห้ามพลาดจริง ๆ ครับ ...