เสือตัวที่ 6 ความเคลื่อนไหวของมหาอำนาจของโลกในพื้นที่รอยต่อของกลุ่มประชาคมอาเซียนซึ่งมีประเทศไทยของเราเป็นสมาชิกอยู่ด้วยครั้งล่าสุดนี้ โดยเฉพาะบริเวณทะเลจีนใต้ ยังปรากฏขึ้นท่ามกลางการช่วงชิงอิทธิพลในภูมิภาคอาเซียนบนท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกันระหว่างรัฐบาลปักกิ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ยักษ์ใหญ่ของโลกตัวใหม่ กับตัวแสดงอีกฝ่ายหนึ่งคือรัฐบาลวอชิงตันแห่งสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจตลอดกาลของโลก ที่ต่างก็มีพันธมิตรของแต่ละฝ่ายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและในภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งมหาอำนาจทางทหารอย่างรัสเซีย ความเคลื่อนไหวของมหาอำนาจของโลกทั้งสองฝั่งรวมทั้งพันธมิตรครั้งล่าสุด ได้สั่นสะเทือนวงการความมั่นคงของโลกในยุคนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหวในภูมิภาคแปซิฟิกต่อกรณีการส่งสัญญาณจากสหรัฐอเมริกาในการสนับสนุนไต้หวันให้เข้าเป็นสมาชิกในองค์กรของโลก และความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองน่านน้ำแทบทั้งหมด ซึ่งเป็นกรณีพิพาทกับสมาชิกอาเซียน เพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตใกล้ชิดกับไทย ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ความคุกรุ่นที่มีมากขึ้นจากการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรต่อกรณีทำความร่วมมือกับออสเตรเลีย ประเทศที่มีดินแดนใกล้ชิดกับอินโดนีเซีย โดยดำเนินการผ่านสนธิสัญญาความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกฉบับใหม่ และจัดตั้งความร่วมมือครั้งนี้ว่า “พันธมิตรไตรภาคีด้านความมั่นคง” หรือที่เรียกว่า AUKUS แม้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนยันว่าเป็นความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในระยะยาว หากแต่ภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคีนี้ คือ เนื้อหาข้อตกลงในสนธิสัญญา ที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร จะสนับสนุนอย่างเต็มกำลังในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ให้ออสเตรเลียซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นเป้าหมายหลัก เพื่อช่วงชิงการนำจากจีน เพื่อกลับมามีอำนาจ มีบทบาทในการรักษาผลประโยชน์ของตนในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก โดยอาศัยพันธมิตรอย่างฟิลิปปินส์ ที่สหรัฐฯ กลับมามีฐานทัพครั้งใหม่ในยุคนี้อีก เป็นที่ทราบกันดีว่า ลำพังออสเตรเลียนั้น ไม่อาจพัฒนาเรือดำนำพลังงานนิวเคลียร์ได้ในห้วงเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งในแวดวงทางทหารรู้ดีว่า เรือดำน้ำนั้น เป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์เชิงรุกที่สำคัญทางทหาร และเมื่อเรือดำน้ำสามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ด้วยแล้ว จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพทางทหารได้มากมายอย่างมหาศาล เพราะมันจะสามารถเดินทางใต้ทะเล ล่องหนใต้น้ำไปได้ในระยะใกล้มากขึ้นเป็นทวีคูณ ด้วยเทคโนโลยีในการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์นั้น เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญและมีความซับซ้อนยากที่คนในประเทศทั่วไปจะเข้าถึง การเข้ามาดำเนินการทางทหารโดยผู้นำประเทศเองอย่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วย บอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร ย่อมไปได้เข้ามาลงทุนใดๆ เพื่อผลประโยชน์ในระยะสั้นและผลประโยชน์เพียงทางทหารเท่านั้น คนระดับนำของโลก และทีมงานของพวกเขาย่อมมองกาลไกล ซึ่ง Sam Roggeveen ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงระหว่างประเทศของสถาบัน Lowy Institute ในซิดนีย์ ระบุว่า ประกาศที่ออกมาของผู้นำทั้ง 3 ประเทศนั้นย่อมเป็นเรื่องไม่ธรรมดา เนื่องจากหลายสิบปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีการแบ่งปันเทคโนโลยีนี้กับสหราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งการเข้าร่วมในฐานะพันธมิตรไตรภาคีของออสเตรเลียถือเป็นก้าวย่างสำคัญในห้วงเวลา ทั้งนี้ เพื่อท้าทายต่อการขยายอิทธิพลของจีน ขณะที่ความเคลื่อนไหวนี้ยังเป็นสัญญาณและหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสหรัฐฯ หันกลับมาเอาจริงเอาจังกับการช่วงชิงอิทธิพลกับจีนอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องการส่งสัญญาณการสนับสนุนไต้หวันเข้าสู่เวทีโลก และความร่วมมือ AUKUS และเชื่อว่า เป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่สงครามเย็น หรือพร้อมเปิดสงครามร้อนๆ กับจีน ในห้วงเวลาของศตวรรษนี้อย่างน่าสนใจยิ่งของทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งมีพื้นที่อาณาเขตประเทศไม่ห่างไกลจากปรากฏการณ์ของยักษ์ใหญ่ครั้งนี้แต่อย่างใด บทบาทของจีนที่ชี้ชัดถึงการเข้ามามีอิทธิพลครอบครองเหนือภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะทะเลจีนใต้ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนได้ขยายอิทธิพลเหนือทะเลจีนใต้ ด้วยการสร้างเกาะเทียมขนาดเล็กหลายเกาะ และสร้างสิ่งอำนายความสะดวกให้เป็นฐานทัพ พร้อมจัดส่งกองกำลังรักษาการทางทะเลและหน่วยคุ้มกันชายฝั่งเข้าคุมพื้นที่ นอกจากนั้น ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งยังผ่านกฎหมายเพียงลำพังของประเทศตนเอง โดยอนุญาตให้หน่วยคุ้มกันชายฝั่งของจีน สามารถโจมตีเรือต่างชาติใดๆ ที่รุกล้ำน่านน้ำที่จีนอ้างเอาเองว่าเป็นเขตอธิปไตยของจีนได้ ท่าทีและปรากฏการณ์ของจีนเหล่านี้ จึงเป็นตัวเร่งให้มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร เข้ามามีบทบาทในการสร้างเสริมพลังอำนาจทางทหารผ่านประเทศพันธมิตรอย่างออสเตรเลียอย่างรวดเร็วขึ้น การเข้ามาสร้างเสริมเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลียหนนี้ ตลอดจนความร่วมมือในการสร้างเสริมพลังอำนาจทางทหารอื่นๆ อีกในอนาคตอันใกล้นั้น มหาอำนาจเหล่านี้ ไม่ได้มุ่งหมายเพียงประเด็นทางทหารเท่านั้น สำนักข่าว Reuters เห็นว่า ความร่วมมือไตรภาคีที่เกิดขึ้น ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่จีนหรือประเทศอื่นใดเพียงประเทศเดียว แต่ยังมีภารกิจความร่วมมือที่ครอบคลุมในหลายด้าน ทั้งการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการป้องกันความมั่นคง ต่อขยายกับความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอื่นๆ เช่น พันธมิตรสี่เส้าด้านความมั่นคง (Quadrilateral Security Dialogue) หรือ Quad ซึ่งสหรัฐฯ และออสเตรเลีย จับมือกับอินเดียและญี่ปุ่น จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2007 ตลอดจนความร่วมมือด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เทคโนโลยีควอนตัม และความร่วมมือในการสร้างความมั่นคงด้านไซเบอร์ รวมถึงความร่วมมือในการเป็นฐานอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ที่จะกลับมาตักตวงผลประโยชน์ทางการค้าในภูมิภาคแต่เพียงผู้เดียวอีกครั้งหนึ่ง ความเคลื่อนไหวของมหาอำนาจของโลกครั้งล่าสุดนี้ ย่อมเล็งเห็นผลไปในหลายด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การช่วงชิงบทบาทนำและแย่งยึดอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ หากแต่จีนเองก็มีพันธมิตรที่เคียงบ่าเคียงไหล่ในเวทีโลกอย่างรัสเซีย ซึ่งก็เป็นมหาอำนาจทางทหารอีกฝ่ายหนึ่ง ความคุกรุ่นในท่าทีของแต่ละฝ่ายหนนี้ จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่ไทยจะมองข้ามไปได้ ประเทศไทยได้ตระหนักในภัยใกล้ตัว ผ่านสัญญาณเตือนที่ยักษ์ใหญ่ส่งมาครั้งแล้วครั้งเล่าแค่ไหน อย่างไร เพราะมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวเสียแล้ว