เสือตัวที่ 6
จากนโยบายของรัฐในการเปิดประเทศของไทย เมื่อ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา จนถึงสัปดาห์แรก พบว่ามีผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาทุกท่าอากาศยานมีจำนวนมากร่วม 2 หมื่น 5 พันราย พบผู้ติดเชื้อ 26 ราย คิดเป็น 0.10% ของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ โดยท่าอากาศยานสุวรณภูมิ มีผู้เดินทางเข้ามามากที่สุดจำนวน 1 หมื่น 5 พันราย สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศต้นทางที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรมากที่สุด อันดับ 1 เป็นสหรัฐอเมริกา จำนวนกว่า 3 พันคน รองลงมาได้แก่ เยอรมนี สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย สวีเดน และฝรั่งเศส ตามลำดับ ทั้งยังมีแนวโน้มว่า จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศมากขึ้น ด้วยความนิยมในทรัพยากรธรรมชาติอันสวยงามเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง รวมทั้งสภาพอากาศที่ตรงกับความต้องการของคนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ทั้งนี้ การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) คาด 2 เดือนสุดท้ายของปี เดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 300,000 คน รวมนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก่อนหน้านี้ตลอดปีนี้อยู่ที่ประมาณ 700,000 คน
จากการปิดประเทศพร้อมมาตรการอันเข้มงวด เพื่อป้องกันระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ประชาชนทั้งประเทศต้องอัดอั้นมายาวนานร่วม 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดกระแสกดดันรัฐบาลเพื่อให้ผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโรค และสนองความต้องการในการกลับมาใช้ชีวิตเพื่อทำมาหากินเลี้ยงปากท้องมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศมีอัตราที่สูงขึ้น รวมทั้งภาวะทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับมหภาคที่เริมเข้าสู่ภาวะวิกฤติ เหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความจำเป็นในการผ่อนคลายให้เศรษฐกิจทุกระดับของประเทศได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนในซีกโลกตะวันตก อยู่ในภาวะอากาศหนาวเย็นและเป็นช่วงเวลาของการเดินทางไปพักผ่อนในประเทศในฝัน ทำให้รัฐบาลต้องฉกฉวยโอกาสนี้ เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในขณะที่การเปิดประเทศทำให้ภาวะเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีอนาคตอันสดใส ด้วยบรรยากาศของความหวังใหม่ในชีวิต กระแสของเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศและกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศมีมากขึ้น ราคาสินค้าจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกิดความต้องการแรงงานต่างด้าว เข้ามาเป็นแรงงานในธุรกิจการงานหลากหลายรูปแบบสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ความไม่มั่นคงในการดำเนินชีวิตของประเทศข้างเคียงโดยเฉพาะประเทศทางตะวันตกและภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ตกต่ำลงโดยทั่วไป ทำให้สอดรับกันระหว่างความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการที่เริ่มตั้งหลักและเดินต่อไป กับความต้องการในการทำงานหารายได้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของผู้คนที่อยู่รอบประเทศ ทำให้เกิดการลักลอบหลั่งไหลเข้ามาของผู้คนรอบประเทศมากมายเป็นเงาตามตัว
ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว และจะเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในมิติอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ จะอยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐ อยู่นอกระบบใดๆ ทั้งสิ้นของรัฐ อันอาจจะนำพาปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้ทันท่วงที และการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของบรรดาแรงงานต่างด้าวทั้งหลายนั้น มีแนวโน้มมากขึ้น จากสถิติการจับกุมได้ของฝ่ายความมั่นคง แต่อย่าลืมว่า สถิติเหล่านี้ เป็นเพียงข้อมูลที่ตรวจพบและจับกุมได้เท่านั้น ยังคงมีความจริงที่ว่า กลุ่มคนที่หลุดรอดจากการตรวจพบและจับกุมของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น น่าจะมีอยู่จำนวนไม่น้อย ด้วยขบวนการลักลอบนำเข้าและขนย้ายผู้คนที่ต้องการเข้ามาใช้ชีวิตแรงงานในประเทศไทย มีผลประโยชน์มากมายจากกลุ่มนายจ้างที่แสวงเพียงประโยชน์ทางธุรกิจส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงภัยร้ายต่างๆ ที่จะตามมาจากแรงงานนอกระบบเหล่านี้
ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าวเหล่านั้น มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง จากการจับกุมกลุ่มตามแนวชายแดน อาทิ เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2564 เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายได้ร่วมกันควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จำนวน 10 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวโรฮีนจา สัญชาติเมียนมา โดยคนกลุ่มนี้ได้ลักลอบข้ามแนวชายแดนผ่านทางช่องทางธรรมชาติมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาหลบซ่อนตัวในพื้นที่ชายแดนอำเภอแม่สอด ซึ่งแรงงานทั้งหมดต้องจ่ายค่านายหน้าให้การช่วยเหลือนำตัวไปส่งปลายทางที่กรุงเทพฯ เป็นเงินรายละ 35,000 บาท ซึ่งแรงงานผิดกฎหมายทั้งหมดอยู่ในสภาพอิดโรยอย่างหนัก เนื่องจากขาดอาหารและต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในป่าข้าวโพดเป็นเวลานาน และเมื่อย้อนไปช่วงปลายเดือน ต.ค. หลังจากที่มีกระแสข่าวว่า รัฐจะมีนโนบายเปิดประเทศใน 1 พ.ย.64 ทำให้เกิดกระแสความต้องการผู้คนไปเป็นแรงงานจำนวนมาก และเป็นกลุ่มคนที่เป็นแรงงานจากประเทศรอบบ้าน ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง จนมีข่าวการสนธิกำลังฝ่ายความมั่นคง เข้าทำการจับกุมบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายจำนวนมากถึง 120 คน โดยซ่อนตัวพักรอที่ชายป่า ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี จากการสอบสวนพบว่า คนเหล่านี้เดินทางมาจาก จ.ทวาย, จ.เมาะละแหม่ง, จ.ย่างกุ้ง และ จ.พะโค โดยจะเข้าไปทำงานที่ กทม. เเละ จ.นครปฐม โดยยอมเสียค่าใช้จ่าย คนละ 17,000-20,000 บาท รวมประมาณ 2.4 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากมีนายทุนออเดอร์แรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อสถานประกอบการ ร้านค้าต่างๆ เปิดทำการ
จากกรณีดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ในโอกาสที่เศรษฐกิจปากท้องระดับรากหญ้าจนถึงระดับประเทศจะลืมตาอ้าปากจากการเปิดประเทศของรัฐหนนี้ ย่อมเป็นโอกาสให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง แสวงประโยชน์เข้าสู่ตนเองโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศเป็นส่วนรวม โอกาสในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กลับเปิดโอกาสให้ขบวนการค้าแรงงานและแสวงประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายได้เติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว และหากภาครัฐไม่เร่งจัดการกับปรากฏการณ์เหล่านั้นให้ทันท่วงที จะเป็นการเปิดโอกาสให้ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติได้เติบโตขึ้น อันจะกระทบต่อคนไทยทุกคน จนต้องลำบากยากเข็ญในต่อการดำเนินชีวิตจากปัญหาซ้ำซากเดิมๆ และปัญหาใหม่ๆ อีกต่อไปไม่สิ้นสุด