รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ปี 2564 เพลง "รำวงลอยกระทง" ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 66 ปี ซึ่งประพันธ์โดยอัจฉริยะคีตกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 2 ท่าน คือครูแก้ว อัจฉริยะกุล ผู้แต่งเนื้อร้อง และครูเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ ผู้แต่งทำนอง จะกลับมาให้คนไทย ได้ยินได้ฟังกันทั่วไปอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะในวันศุกร์ที่ 19 นี้ หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินแบบจันทรคติ หรือถ้าเป็นปฏิทินจันทรคติของล้านนาจะตรงกับเดือนยี่ หลังจากปีที่ผ่านมารัฐบาลประกาศงดจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง เพราะพิษโควิด-19
“วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ”
แม้ว่าปีนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ แต่รัฐบาลประยุทธ์ก็ยอมไฟเขียวให้จัดงานวันลอยกระทงภายใต้มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID-Free Setting) และการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention)
บุคคลที่ไปลอยกระทงหรือไปร่วมงานวันลอยกระทงจะได้รับ ‘บุญ ความสนุก และความสุข’ ดังบทเพลงที่เขียนไว้ ท่อนหนึ่งว่า “บุญจะส่งให้เราสุขใจ” จริงหรือไม่นั้น คงขึ้นกับการปฏิบัติตนของบุคคลนั้น ๆ อย่างเคร่งครัดตามที่รัฐบาลออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนปลอดจากป่วยด้วยโควิด-19 แบบ “สนุกวิถีใหม่” ถึงแม้ว่าจะต้องลุ้นกันอีกว่าโควิด-19 ระลอกใหม่ จะมา “จะเอ๋” ในวันใด...
ยิ่งไปกว่านั้น ตามคติความเชื่อเกี่ยวกับการลอยกระทงก็เพื่อขอขมาพระแม่คงคา เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทและบูชาเทพเจ้าตามคติความเชื่อ เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยให้คงอยู่ และเพื่อรู้ถึงคุณค่าของน้ำหรือแม่น้ำลำคลอง โดยกิจกรรมหลัก ๆ ที่นิยมจัดหรือเล่นกันในเทศกาลวันลอยกระทง เช่น ประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ เล่นรำวงเพลงเรือ จุดดอกไม้ไฟ ประทัด หรือพลุ เป็นต้น
ช่วง 2-3 ทศวรรษมานี้ มีหลักคิดใหม่ของการพัฒนาเพื่อการเติบโตแบบยั่งยืนว่า “ต้องไม่ทิ้งภาระไว้ให้คนรุ่นหลังลำบาก” หรือ “Inclusive Development” ก็ทำให้ต้องมองย้อนว่าอดีตรุ่นปู่ย่าตายายที่ผู้คนยังไม่มากนัก การลอยกระทงด้วยวัสดุธรรมชาติใช้เวลาไม่นานกระทงก็เน่าเปื่อยสลายไปในธรรมชาติ แต่ต่อมาเมื่อนำ ‘โฟม’ วัสดุสังเคราะห์มาทำกระทงแทน ซึ่งกว่าจะย่อยสลายก็นานโขทีเดียว และแม้ว่าปัจจุบันจะหันกลับมาลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติกันมากขึ้น แต่ถ้ามีปริมาณกระทงมาก ๆ ก็คงไม่ดีต่อแม่น้ำลำคลองและไม่ไหวต่อเจ้าหน้าที่เช่นกัน
ดังนั้น การสืบต่อแนวปฏิบัติการลอยกระทงแบบ “หนึ่งครอบครัว หนึ่งกระทง” ที่ริเริ่มในวันนี้จึงควรรณรงค์ต่อไป เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับ ‘COP26’ หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 26 ที่จัดขึ้นในช่วงนี้ด้วย (ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 12 พ.ย.)
การประชุม COP26 นี้ มีประเด็นหารือที่สำคัญและน่าสนใจเพื่อช่วยกันลดอาการ “โลกป่วย”เพราะปัญหาสภาพแวดล้อมถูกทำลายเสียหาย (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.sdgmove.com/2021/11/01/cop26-4-main-topics-of-discussion/) อาทิ
- การลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ภายในปี 2050 และการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
- การปรับตัวเพื่อปกป้องชุมชนและถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติให้มากขึ้น
- การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมให้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
คนไทยกับเทศกาลลอยกระทงในยุคโควิด-19 นี้ หวังว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งของการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคมไทยและคนไทยในฐานะพลเมืองโลกผ่านการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ “รักษ์ประเพณี” ที่มีมาแต่โบราณไปพร้อม ๆ กับ “รักษ์โลก” และ ‘รักสุขภาพ’
สุดสัปดาห์นี้ห้ามพลาดครับ ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ‘ทุกช่วงวัย - อาชีพ - พื้นที่’ เกี่ยวกับเทศกาล ลอยกระทงยุคโควิด-19 ของ “สวนดุสิตโพล” ในหลายมิติ เช่น การอนุมัติให้จัดงานประเพณีลอยกระทง ความมั่นใจต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 ค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในเทศกาลลอยกระทง วัสดุทำกระทงที่เลือกใช้/ซื้อ สิ่งที่อยากบอกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับ การจัดงานลอยกระทง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คำอธิษฐาน” ของคนที่จะไปลอยกระทง จะอธิษฐานเรื่องอะไร?
...น่าสนใจมาก ๆ ครับ