รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ปี 2564 นับเป็นปีที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาวิกฤตหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติสาธารณสุข - การรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ‘โควิด-19’ วิกฤตเศรษฐกิจ - ปัญหาธุรกิจล้ม คนว่างงาน หนี้สิ้นครัวเรือน วิกฤติการเมือง - ผู้นำบริหารประเทศไม่เข้าสายตาประชาชน ความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาลที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และล่าสุดช่วงปลายเดือนกันยายน เป็นต้นมาก็ต้องประสบกับ ‘อุทกภัย’ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะวิกฤติอีกครั้ง หากไม่เร่งหาทางป้องกันหรือแก้ไขเพราะอาจทำให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ สังคม และประชาชน กระทรวงมหาดไทยระบุว่าอุทกภัยหรือภัยน้ำท่วมจัดเป็นภัยคุกคามแบบใหม่ (Non-traditional threats) เช่นเดียวกับโรคระบาด ไม่ใช่เพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามแบบใหม่ ทั่วโลกต่างเผชิญชะตากรรมเดียวกันและมีแนวโน้มมากขึ้น ความเสียหายรุนแรงและกว้างขึ้น เช่น ‘3 ก.ย. 64 - พายุไอดาถล่มสหรัฐฯ น้ำท่วมฉับพลัน คร่าชีวิตมากกว่า 40 คน’ ‘5 ต.ค. 64 – พายุชาอีนถล่มโอมาน น้ำท่วมสูง-เสียชีวิตหลายคน’ สาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามแบบใหม่คือ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทำให้โลกมีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น โลกร้อนขึ้น ภาวะฝนตกหนักขึ้น ความชื้นเพิ่มขึ้น และแล้งหนักขึ้น เพราะอุณหภูมิสูงขึ้น น้ำระเหยมากขึ้น รวมถึงระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น สถิติอุทกภัยครั้งใหญ่ ๆ ของไทย พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 18 ครั้ง เมื่อจำแนกตามแต่ละรัชกาล พบว่ารัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 เกิดอุทกภัยรัชกาลละ 1 ครั้ง รวม 7 ครั้ง (ปี 2328 2362 2374 2402 2422 2460 และ 2485) และรัชกาลที่ 9 พบมากที่สุด 10 ครั้ง (ปี 2518 2521 2523 2526 2529 2533 2537 2538 2539 2554) และรัชกาลที่ 10 จำนวน 1 ครั้ง คือในปี 2564 น้ำท่วมปี 2554 เป็นอุทกภัยที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดทั้งในด้านของปริมาณน้ำ จังหวัด ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และมูลค่าความเสียหาย - ครอบคลุม 77 จังหวัด 12.8 ล้านคน 4 ล้านกว่าครัวเรือน และมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านบาท !!! แต่ภัยน้ำท่วมปี 2564 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสรุปรายงานสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดว่า มีจังหวัดที่ น้ำท่วมเพราะอิทธิพลของพายุ “เตี้ยนหมู่” 32 จังหวัดครอบคลุมภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก และตะวันตก (ยกเว้นภาคใต้) โดยมี 14 จังหวัดที่สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว และมีอีก 18 จังหวัดที่สถานการณ์ยังแย่อยู่ โดยมีประชาชนได้รับผลกระทบเดือดร้อน 2 แสนกว่าครัวเรือน การรับมือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมื่อมองผ่านความเสียหายและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ได้แก่ 1) น้ำท่วมอาคารบ้านเรือน สิ่งก่อสร้าง และสาธารณสถาน 2) เส้นทางคมนาคมและการขนส่งถูกตัดขาดเป็นช่วง ๆ 3) ระบบสาธารณูปโภคเสียหาย และ 4) พื้นที่การเกษตรและการปศุสัตว์เสียหาย ในระยะประชิดหรือใกล้ตัวก็คงเป็น การยกสิ่งของหรือเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้สูงขึ้น’ ‘การแจกถุงทราย เรือ ถุงยังชีพ ยารักษาโรค’ ‘การหาที่พักอาศัยชั่วคราว/อพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย’ เป็นต้น แต่ในระยะยาวภาครัฐต้องวางแผนร่วมกันแก้ปัญหาทั้งในระดับจังหวัด/ท้องถิ่นและส่วนกลางผ่านกลไกการทำงานระดับกระทรวงต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ เช่น เกษตรและสหกรณ์ คมนาคม มหาดไทย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และคลัง เป็นต้น เมื่อเปรียบเทียบความยากง่ายของการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของปี 2554 กับปี 2564 พบว่า ปีนี้มี จุดที่ง่ายกว่าคือ ปริมาณน้ำที่กักเก็บตามเขื่อนต่าง ๆ มีปริมาณน้อยกว่าทำให้สามารถรองรับความจุน้ำได้มากกว่า และในขณะเดียวกันการระบายน้ำออกจากเขื่อนก็มีปริมาณน้อยกว่า แต่จุดที่ยากกว่ามากคือ ประเทศยังเผชิญกับการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้การเข้าถึงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ติดอยู่ในบริเวณน้ำท่วมเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก เพราะมีอุปสรรคที่เป็น “ภัยตรง”จากตัวน้ำ และ “ภัยอ้อม” จากตัวโรค คอยขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ส่วนอุปสรรคอื่น ๆ จะมีอะไรบ้าง? สามารถติดตามได้จากผลโพลปลายสัปดาห์นี้ครับ ... แม้ว่าจะมีความเห็นจากหลายหน่วยงานและบุคคลระบุว่า ‘น้ำท่วมปี 2564 จะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554’ แต่ก็อย่าประมาทกับภัยธรรมชาติ แต่เหนือสิ่งอื่นใด...น้ำท่วมปี 2564 ในมิติของประชาชนที่จะสะท้อนผ่าน “สวนดุสิตโพล” ในช่วงท้ายของสัปดาห์นี้...น่าจับตามองนะครับ