รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ช่วงนี้ ! “อ่าน” แต่ข่าวภัยสังคม “ฟัง” แต่ข่าวภัยสังคม “ดู” แต่ข่าวภัยสังคม
ภัยสังคม เป็นสิ่งที่อันตรายที่เกิดขึ้นจากจิตใจหรือเป็นการกระทำที่มุ่งร้ายของผู้คนในสังคม ซึ่งสื่อหัวสีนิยมเสนอข่าวภัยสังคมเป็นเซ็กชั่นหนึ่งต่างหาก เพราะสามารถสร้างกระแสความสงสารหรือเรียกความสนใจจากผู้อ่านได้ง่าย โดยกลุ่มบุคคลที่มักเป็นผู้รับเคราะห์จากภัยสังคมคือ พวกเด็กนักเรียน นักศึกษาหญิง ผู้หญิง คนสูงอายุ และคนพิการ เนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางถูกทำร้ายหรือคุกคามง่าย
ตัวอย่างภัยสังคมที่เกิดขึ้นและพบเห็นทั่วไปในสังคมไทย เช่น การโจรกรรมลักทรัพย์-ชิงทรัพย์ การฉกชิงวิ่งราว-จี้ปล้น การลักพาตัว/จับเป็นตัวประกัน การข่มขืน ภัยจากการนั่งรถแท็กซี่/รถตู้/รถไฟฟ้า ภัยจากพวกโรคจิตโชว์ของลับ ภัยจากเหตุจลาจล/การชุมนุมต่าง ๆ ภัยจากการต้มตุ๋นหลอกลวง เป็นต้น ภัยสังคมที่เกิดขึ้นมักจะมุ่งทำร้ายให้บุคคลนั้นได้รับบาดเจ็บด้านร่างกาย เจ็บปวดด้านจิตใจ เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ทำให้เกิดความอับอาย ตลอดจนการประสงค์ต่อทรัพย์สินเงินทอง
ภัยสังคมมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญก้าวหน้าของสังคมหรือเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน เช่น ภัยจากอินเตอร์เน็ต ภัยจากพวกแฮกเกอร์ ภัยจากการซื้อขายของออนไลน์/ช้อปปิ้งออนไลน์ ภัยจากการพนันออนไลน์หรือมันนี่เกมอื่น ๆ ภัยจากการแชร์ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ ภัยจากการขอรับบริจาคปลอม เป็นต้น
ภัยสังคมในยุคโควิด-19 ที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องเผชิญจากวิกฤตสำคัญ ๆ 3 ด้านพร้อม ๆ กันในขณะนี้ ได้แก่ วิกฤติสาธารณสุข วิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติการเมือง ทำให้ภัยสังคมที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงหรือสัมพันธ์กับวิกฤติดังกล่าวด้วย ดังจะเห็นได้จากวิกฤติสาธารณสุขทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลข่าวสารปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 เป็นจำนวนที่สูงมาก วิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปิดกิจการ ตัวเลขคนตกงานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ การทำมาค้าขายลำบาก หนี้สินครัวเรือนพุ่งสูงปรี๊ด ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ หรือการฆ่าตัวตายเซ่นพิษเศรษฐกิจ ส่วนวิกฤติการเมืองก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือล้มตายจากการปะทะกันระหว่างการชุมนุมต่าง ๆ ทั้งฝ่ายที่ชุมนุม ฝ่ายที่ปราบปรามการชุมนุม และฝ่ายที่เป็นกลางแต่ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ฯลฯ
สำหรับสาเหตุของการเกิดภัยสังคมในระดับบุคคลย่อมต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย ๆ คือ “ผู้กระทำ” หรือฝั่ง “ผู้ร้ายหรือโจร” และ “ผู้ถูกกระทำ” หรือฝั่ง “เหยื่อ” เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุการเกิดขึ้นของภัยสังคมในด้านของผู้กระทำอาจเกิดจากความโลภ อยากรวย อยากมี อยากเป็น แบบด่วน ๆ หรือเร็ว ๆ หรืออาจเกิดจากสภาวะเป็นโรคจิต ส่วนในด้านของผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อแล้วมักเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หลงเชื่อผู้อื่นง่ายเกินไป และอาจอยากรวยเร็ว
ในเชิงจิตวิทยากล่าวว่า “บุคคลที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นจนกลายเป็นภัยสังคมนั้นจะเรียกว่า ‘Sociopath’ (โซซิโอพาธ) หรือ ‘Psychopath’ (ไซโคพาธ)” ลักษณะหรือพฤติกรรมที่เด่นของพวกโซซิโอพาธหรือไซโคพาธ คือมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีความเห็นแก่ตัว เป็นคนที่ยอมทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตนเองได้ในสิ่งที่ต้องการอยากได้ และมีความสามารถพิเศษในการหาเหตุผลมารองรับการกระทำที่ไม่ดีหรือเป็นภัยต่อผู้อื่น
การป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยสังคมทั้งภัยสังคมแบบดั้งเดิมและภัยสังคมแบบใหม่ ๆ คงหนีไม่พ้นการให้ความรู้เกี่ยวกับภัยสังคมทุกรูปแบบและทุกชนิดแก่ประชาชนทุกคน และโดยเฉพาะกับประชาชนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือ เด็ก สตรี คนชรา และคนพิการ ตลอดจนการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้านให้มีความเจริญเท่าเทียมกัน ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน จัดสวัสดิการให้เพียงพอทั่วถึง ตลอดจนปลูกฝังการเป็นคนดีไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น
สัปดาห์นี้ !!! การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ ‘ภัยสังคมในยุคโควิด-19’ คงพลาดการติดตามไม่ได้ครับ เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ เช่น ภัยสังคมที่น่าเป็นห่วงมีอะไรบ้าง อะไรที่ส่งผลให้ปัญหาภัยสังคมเพิ่มมากขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหาภัยสังคมมีอะไรบ้าง ฯลฯ
อย่าพลาดเด็ดขาด ! ก่อนที่ท่านจะกลายเป็น “เหยื่อ” ของภัยสังคม !