เสือตัวที่ 6
สถานการณ์ในตะวันออกกลางในช่วงที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจครั้งใหญ่ หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ที่ถูกส่งเข้าไปปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายที่ชื่อตาลีบัน ที่อาจหาญถล่มตึกเวิลด์เทรด ถึงใจกลางประเทศ ในเหตุการณ์9/11 ซึ่งการถอนกำลังทหารของสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดนั้น ส่งผลให้กองกำลังตาลีบันสามารถรุกไล่ เข้ายึดครองประเทศอัฟกานิสถานได้ในเวลาอันรวดเร็ว กลุ่มตาลีบัน ใช้กลยุทธ์ในการทำสงครามและการโจมตีรัฐบาลอัฟกานิสถานและกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลอัฟกานิสถานในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และสามารถยึดเมืองใหญ่ต่าง ๆ และกรุงคาบูลสำเร็จลงได้ในที่สุด นั่นแสดงให้เห็นว่า กลุ่มตาลีบันไม่เคยว่างเว้นความพยายามในการเสริมสร้างกองกำลังอันเข้มแข็ง ไว้ต่อสู้กับกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตร
ความพร้อมของกองทัพตาลีบันจึงปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ผ่านการยึดครองดุลอำนาจทั้งประเทศได้อย่างง่ายดาย และส่งผลต่อดุลอำนาจในตะวันออกกลางที่แน่นอนว่า ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เป้าหมายคือพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลประโยชน์ของชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อันเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของกลุ่มต่างๆ ในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็น ตาลีบัน อัลเคดา และไอเอส ต่างสามารถหาสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มจากคนในท้องถิ่นมาร่วมต่อสู้ เพื่ออุดมการณ์ของพวกเขา โดยอ้างว่าการทำจีฮัดจะช่วยพิทักษ์ และทำให้ศาสนาของพวกเขาบริสุทธิ์ตามสังคมอุดมคติของพวกเขาที่ถูกหล่อหลอมขึ้นอย่างแข็งแกร่งมาเป็นเวลานาน ด้วยเป้าหมายระดับโลกที่ กลุ่มอัลเคดาและไอเอส ต่างก็สามารถระดมสมาชิกร่วมอุดมการณ์ผ่านหลักความเชื่อทางศาสนาแบบสุดโต่ง ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถหาคนจากทั้งในภูมิภาคนี้และนอกภูมิภาคตะวันกลางเข้าร่วมกลุ่มได้อีกด้วย
กลุ่มไอเอส ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเรื่องนี้ โดยแสวงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ใช้พลังของอินเตอร์เน็ตในการชักนำผู้คน ให้เกิดแนวคิดสังคมในการร่วมกันสร้างสังคมมุสลิมตามอุดมคติที่ต้องการ จนเกิดการเข้าร่วมกับกลุ่มในดินแดนที่พวกเขายึดครองในอิรักและซีเรีย ในกรณีศึกษาหนึ่งคือ การใช้แนวคิดสังคมความเชื่อตามหลักศาสนาในอุดมคติ จนสามารถดึงดูดผู้คนจากชาติตะวันตกให้เข้าร่วมกับกลุ่มในซีเรียและอิรักได้อย่างมีประสิทธิภาพ และวางแผนโจมตีประเทศที่สมาชิกเหล่านี้อาศัยอยู่ หนึ่งในนั้นคือ การก่อการร้ายที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 ซึ่งสมาชิกไอเอสได้สังหารผู้คนไปมากถึง 130 คน นับเป็นเหตุก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีของฝรั่งเศส
ในขณะที่กลุ่มตาลีบัน สามารถเข้ายึดครองหลายพื้นที่ของอัฟกานิสถาน ด้วยการโน้มน้าวใจชาวบ้านในท้องถิ่น ในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะในเขตชนบทที่ผู้คนเต็มไปด้วยปัญหามากมาย จากการปกครองของรัฐบาลที่มีสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง ซึ่งตาลีบันได้แสดงบทบาทให้ผู้คนในชนบทเหล่านั้นเห็นว่า พวกเขาเป็นทางออกของปัญหามากมายของประเทศ โดยเฉพาะการถูกละเลย ทอดทิ้งจากรัฐบาลอย่างไม่เป็นธรรมรวมทั้งการทุจริต ไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างมากมาย อันเป็นผลให้คนชนบท ต้องพบกับความยากจนข้นแค้น ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาได้อย่างอุดมคติ
ส่วนกลุ่มไอเอสนั้น ใช้การก่อการร้ายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามปฏิวัติ โดยดินแดนภายใต้การปกครองของคนกลุ่มนี้ นิยมใช้ความรุนแรงโหดเหี้ยม ไม่ว่าจะเป็นการสังหารหมู่ การตัดหัวในที่สาธารณะ และการซ้อมทรมาน เพื่อข่มขวัญคนในท้องถิ่นเพื่อให้ยอมจำนน ในขณะที่กลุ่มของอัลเคดา จะใช้การโฆษณาชวนเชื่อ โดยจะมุ่งเน้นไปที่แนวคิดเรื่องการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ โดยคนมุสลิมที่เน้นว่าเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมทุกคน ที่ต้องทำหน้าที่นี้ ในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งหลักการตามคำสอนที่บริสุทธิ์นี้ให้ได้ การต่อสู้กับศัตรูของศาสนาไม่ว่าจะเป็นศัตรูหลักๆ หรือพันธมิตร ล้วนเป็นเป้าหมายในการทำลายล้างทุกรูปแบบ แต่มีเป้าหมายในการระดมคนผ่านการปลุกเร้าความคิดสุดโต่ง ที่เรียกว่าการโฆษณาชวนเชื่อไปที่คนในท้องถิ่นเป็นหลัก
กลุ่มก่อการร้ายที่ชื่ออัลเคดา ใช้วิธีการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ โดยคนมุสลิมที่เชื่อมั่นและศรัทธาคำสอน ด้วยการปลุกระดมแนวคิดสังคมทางศาสนาอันบริสุทธิ์ในอุดมคติ เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามที่สร้างขึ้นในทุกรูปแบบ ด้วยพลังของความเชื่อละความศรัทธาเหล่านี้ จึงสร้างพลังในการขับเคลื่อนการต่อสู้กับศัตรูของผู้ร่วมอุดมการณ์เหล่านี้มาได้อย่างยาวนาน แม้จะมีศักยภาพในการต่อสู้ที่น้อยกว่าคู่สงครามอย่างเทียบกันไม่ได้ ทำให้การต่อสู้กับคู่ขัดแย้งที่ถูกสร้างขึ้น ให้ไปก่อเหตุที่สร้างความเสียหายรุนแรงนี้ เกิดขึ้นได้อย่างทรงพลังยิ่ง โดยปลุกใจนักรบมุสลิมทั่วโลกให้ฮึกเหิมอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง และเพื่อขับไล่สหรัฐฯ ออกจากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะจากซาอุดิอาระเบีย และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
ในขณะที่กลุ่มตาลีบัน มุ่งเป้าหมายที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศอัฟกานิสถาน หลังจากยึดครองดินแดนแห่งนี้สำเร็จ ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน ให้กลับคืนสู่สังคมมุสลิมในอุดมคติที่สร้างขึ้น แบบในอดีตที่เคยเป็นมา หากแต่ว่ากลุ่มตาลีบัน ยังไม่มีความชัดเจนในความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศอื่นให้เป็นสังคมมุสลิมในอุดมคติตามแบบของกลุ่ม ในขณะเดียวกัน ลักษณะของกลุ่มอัลเคดาและไอเอส มีหลักการของกลุ่มที่บ่งบอกถึงความสุดโต่ง และนิยมความรุนแรงยิ่งกว่ากลุ่มตาลีบัน นอกจากนั้น ทั้งกลุ่มอัลเคดาและไอเอส จะมีเป้าหมายในการสร้างรัฐอิสลามอันบริสุทธิ์ตามแบบสังคมมุสลิมในอุดมคติ ให้ขยายวงกว้างไปทั่วโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทั้งตาลีบัน อัลเคดา และไอเอส ต่างก็มีศัตรูที่สำคัญร่วมกัน นั่นคือสหรัฐฯ และชาติตะวันตกที่ร่วมกับสหรัฐฯ การต่อสู้ของคนที่มีความเชื่อความศรัทธาของทั้งสามกลุ่ม จึงสอดประสานกันอย่างทรงพลัง ด้วยการต่อสู้ในสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อศาสนาที่คนในกลุ่มนี้คิดว่าดีที่สุด ถูกต้องที่สุด และเป็นหน้าที่ของคนในศาสนาทุกคนที่จะต้องสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากคนในดินแดนหนึ่งไปสู่คนในอีกดินแดนหนึ่ง เพื่อขยายแนวทางตามแนวคิดอันศักดิ์สิทธิ์นี้ให้เป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาไปสู่ผู้คนให้มากที่สุดในโลกใบนี้ ด้วยอุดมการณ์การร่วมกันขับเคลื่อนการต่อสู้กับใครก็ตามที่ขัดขวางแนวคิดตามสังคมอุดมคตินี้ให้สำเร็จให้จงได้