ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] ข้อมูลและข้อเสนอแนะของอดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ในการให้รัฐบาล คสช. พัฒนารายได้ของประชาชนในภาคใต้ที่มีรายได้ลดลงหลายจังหวัด นับว่าเป็นข้อเท็จจริงว่าประชาชนในบางภาคมีรายได้ลดลงจริง ซึ่งรัฐบาลคงทราบดีจึงได้ใช้มาตรการหลายรูปแบบไปยกระดับรายได้ระดับรากหญ้าอยู่ในขณะนี้ ความจริงที่ปรากฏเห็นได้ชัดในช่วงการแบ่งสี แบ่งกลุ่ม เพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมือง รัฐบาลที่ผ่านมาละเลยการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะความเป็นอยู่ของประชาชน มัวแต่รักษาตำแหน่งและฐานอำนาจทางการเมืองจนบ้านเมืองเข้าขั้นวิกฤติ ส่งผลต่อการยึดอำนาจของรัฐบาลทหาร น่าจะเป็นเหตุผลหลักของการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ส่งผลมาถึงปัจจุบัน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ ได้บอกกล่าวเรื่องนี้ต่อประชาชนว่า รัฐบาลมิได้นิ่งนอนใจ ปัญหามากมายที่สะสมกันไว้ค่อยๆปรับแก้ นั่นคือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ กับการใช้งบประมาณให้ทั่วถึงทุกจังหวัด ทุกภาค ไม่เหมือนกับอดีตที่พรรคของภาคใด จังหวัดใด มาเป็นรัฐบาลจะทุ่มเทงบประมาณไปในกลุ่มจังหวัดนั้น ความเหลื่อมล้ำของสังคมจึงกว้างขยายมากขึ้น ต้องยอมรับว่ารัฐบาล คสช. ได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีแผนยุทธศาสตร์ให้เป็นวาระแห่งชาติ (agenda) ทุ่มเทงบประมาณไปในเชิงยุทธศาสตร์ที่จะรองรับยุทธศาสตร์ชาติในอนาคต ยิ่งกว่านั้น ยังกำหนดให้ชัดว่าใครเป็นเจ้าภาพ (function) จะเป็นผู้ใช้และเสนองบประมาณในส่วนภูมิภาค ได้กำหนดให้มีงบประมาณ จังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาค 6 ภาค (area) ขึ้นมาอีก เพื่อให้แต่ละจังหวัดนำงบประมาณไปพัฒนาท้องถิ่นทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และพัฒนาคุณภาพชีวิตของปราะชาชนให้เกิดรายได้ประจำจังหวัด (GPP) เพิ่มมากขึ้น เพียงแต่จังหวัดนั้นๆจะมีศักยภาพและการใช้งบประมาณให้ตรงกับความต้องการได้มากเพียงใด โดยเฉพาะงบประมาณจะต้องไม่ตกหล่นระหว่างทาง ใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลจะต้องควบคุมและมีมาตรการว่างบประมาณแต่ละปีเกิด outcome และ impact กับยุทธศสาตร์ชาติอย่างไร เรื่องที่ต้องชื่นชมรัฐบาลได้มองเห็นจุดอ่อนและความเหลื่อมล้ำอยู่ตรงไหน จึงได้ระดมทรัพยากรและงบประมาณลงไปสู่ประชาชน ชุมชน คนยากคนจน และผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการมากขึ้น โครงการ net หมู่บ้าน net ประชารัฐ หรือ net ชายขอบ จะส่งผลกระตุ้นการค้าขายให้รายได้และเศรษฐกิจแก่ชุมชนและประชาชน คงต้องรอผลสักปีสองปีจะเห็นรายได้ถูกพัฒนาให้สูงขึ้น สิ่งที่หลายภาคส่วนยังกังวลใจ คือการที่รัฐบาลมีแนวคิดจะนำเงินฝากของประชาชนที่ไม่เคลื่อนไหวมาเก็บรักษาไว้ จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าถังแตกจะยึดเงินประชาชน น่าจะให้ธนาคารเป็นผู้กระตุ้นผู้ฝากเบิกไปทำประโยชน์ให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจดีกว่านิ่งอยู่เฉยๆ เช่นเดียวกับการที่รัฐบาลคิดจะนำเงินสะสมหรือรายได้สะสมประมาณ 400,000 ล้านบาท ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 200,000 ล้านบาทกลับมาพัฒนาท้องถิ่น นับว่าเป็นความคิดที่ควรสนับสนุน เพราะรายได้สะสมของส่วนราชการ คือ เงินของแผ่นดิน เก็บไว้เฉยๆจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ หากนำมาพัฒนาท้องถิ่น ก็น่าจะได้ประโยชน์คุ้มค่ากว่าฝากไว้กินดอกเบี้ย ทำนองเดียวกับเงินรายได้สะสมมหาวิทยาลัยของรัฐและของวัด มีเก็บกันไว้อยู่มาก ทำอย่างไรจะจัดสรรงบประมาณที่จำเป็นให้บางส่วนให้ใช้เงินรายได้สะสมเอง ปกติสำนักงบประมาณจะให้มหาวิทยาลัยลงทุนสิ่งก่อสร้างสมทบ 12% อยู่แล้ว ควรจะให้สมทบเพิ่มอีกได้ไหม รวมถึงวัดที่มีเงินสะสมค่อนข้างมาก ไม่ต้องจัดสรรงบประมาณให้หรือให้บางส่วนแล้วนำเงินงบประมาณแผ่นดินไปพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่นได้อีกมาก การใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดความคุ้มค่า เห็นว่ารัฐบาลพึงพัฒนาให้ครบวงจรและคุ้มค่า หากราชการใดไม่ใช้งบประมาณเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ ไม่สมควรจัดสรรให้ หากงบประมาณไม่ตกหล่น เชื่อว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนและชาติบ้านเมืองจะหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้อย่างรวดเร็ว