สถาพร ศรีสัจจัง นักเรียนไทย “ยุคเก่า” (ไม่แน่ใจว่าจะใช้เส้นแบ่งตรงไหน) คือยุคที่ระบบการศึกษาไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่องคุณค่าของวรรณคดีไทย (ซึ่งให้คุณค่าแก่ชีวิตผู้เรียนในหลายด้าน ทั้งด้านความรอบรู้ ด้านก่อความคิด และ ด้านสุนทรียภาพแห่งชีวิต) และเรื่อง “จริยธรรม” ซึ่งก็คือแนวปฏิบัติในการปฏิสัมพันธ์แห่งห้วงชีวิต ระหว่างคนกับคนในสังคม ตามกาลเทศะ และ ฐานานุรูปนั้น อย่างน้อยมีวรรณคดีไทย 2 เรื่องที่พวกเขา (และเธอ) ในยุคก่อนต้องผ่านหูผ่านตา เรื่องแรกคือ “สามัคคีเภทคำฉันท์” ของนายชิต บุรทัต กวีเชิง ขนบคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในยุคปลายรัชกาลที่ 6 (ต่อเนื่องมาจนถึงยุคล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 7) กับเรื่อง “พระไชยสุริยาคำกาพย์” ของสุนทรภู่กวีใหญ่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์์ ที่ภายหลังได้รับยกย่องโดยองค์การสหประชาชาติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกคนหนึ่ง เรื่อง “สามัคคีเภทคำฉันท์” นั้น ผู้รจนาคือนายชิต บอกไว้ในบทนิพนธ์อย่างชัดเจนว่าเขียนขึ้นเพื่อแจงให้เห็นถึงโทษของการแตกสามัคคีในกลุ่มชน โดยท่านได้นำเรื่องจากชาดกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับ “อปริหายธรรม” ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสอน มาเรียบเรียงขึ้นเป็น “นิทาน” โดยใช้รูปแบบกวีนิพนธ์ไทยประเภท “ฉันท์” ที่เรารับรูปแบบจากอินเดียมาพัฒนา (และ “คิดแบบเพิ่ม” จนกลายเป็น “แบบไทย”) นายชิตบอกเหตุผลในการแต่งเรื่องนี้ไว้ว่า “เชิงบรรพ์ฉันทเลบงเชลงพจนแปลง/บรรจงประสงค์แจง/ประโยชน์/สามัคคีภิทโทษนิทานณคติธรรม์/ถ้อยพิสดารอัน/แถลง...” ดูเหมือนผลจากการ “ปรับปรุงหลักสูตร” ของกระทรวงศึกษาธิการหลายๆครั้ง (ตั้งแต่ยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516) ทำให้กลิ่นอายความรับรู้ของเยาวชนไทยในระบบการศึกษาสมัยใหม่ (ที่ Base on Westernization?) เกี่ยวกับภาษาไทย วรรณคดีไทย และ จริยธรรมไทย ฯลฯ ค่อยๆถูกกลิ่นอายของระบบวิธีคิด และ ระบบคุณค่าแบบ “ทุนเสรีนิยม” เข้ามาสวมในจิตวิญญาณ(แบบไม่รู้จักเลือกแก่นทิ้งกาก) ให้กับเยาวชนแทนมากขึ้นๆ (จนปัจจุบันสามารถ “ขัดเกลา” Socialize ให้เป็นแบบตะวันตกได้อย่างพิกลพิการชนิดสมบูรณ์แบบเรียบร้อยแล้ว!) อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้สอน ไม่ได้ตอกย้ำถึงผลร้ายของการ “แตกสามัคคี” ในกลุ่มชนหรือกลุ่มประชาชาติที่ต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคมเป็นประเทศหรือเปล่า? ที่มีส่วนทำให้ภาพความขัดแย้งที่ไม่สร้างสรรค์ ที่มีแนวโน้มแห่งการทำลายล้างซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและดูจะเข้มข้นยิ่งขึ้น อย่างที่เห็นๆกันอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน? กระทรวงศึกษาธิการยุคผู้นำเป็นหญิงสาวนามสกุล “เทียนทอง” จะมีเวลาคิดเรื่องนี้บ้างหรือเปล่าหนอ? แล้วบรรดา “เทคโนแครต” ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของ “ระบบการศึกษาของชาติ” อีกละมีเวลาครุ่นคำนึงถึงเรื่องนี้กันบ้างไหม? อีกเรื่องที่นำมาโยงถึงกันเข้าในหัวข้ออภิปรายครั้งนี้ คือคำ “พาราสาวัตถี” (หรือ “สาวะถี”) คำนี้มีที่มาจากวรรณคดีเรื่อง “พระไชยสุริยาคำกาพย์” ของสุนทรภู่ดังที่ได้กล่าวนำมาแล้วแต่เบื้องต้น เรื่อง “พระไชยสุริยา” นั้นมีต้นฉบับเดิมเป็นสมุดไทย การศึกษาตรวจสอบก็ยังไม่ได้ความชัดเรื่องวันเวลาที่สุนทรภู่แต่ง บ้างก็ว่าในช่วงรัชกาลที่ 2 (รุ่งเรือง) บ้างก็ว่าในช่วงรัชกาลที่ 3 (ข้อมูลว่าตกอับ) บ้างก็ว่าเขียนเมื่อครั้งเป็นภิกษุอยู่ที่เมืองเพชรบุรี บ้างก็ว่า เขียนเมื่อครั้งประจำอยู่ที่วัตเทพธิดารามในกรุงเทพฯ แต่ที่แน่ๆก็คือมีเจตนาจะเขียนขึ้นเพื่อ “ภุมราการุณสุนทร/ไว้หวังสั่งสอน/เด็กอ่อนอันเยาว์เล่าเรียน/ก ข ก กา ว่าเวียน/หนูน้อยค่อยเพียร/อ่านเขียนผสมกมเกย...” ซึ่งสรุปได้คือ เขียนขึ้นเพื่อให้เด็กๆได้ใช้เป็นตำราหัดเขียนอ่านภาษาไทย โดยเริ่มตั้งแต่แม่ ก กา จนถึง แม่เกย ภายหลังเมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)เขียนตำราชุดภาษาไทย 6 เล่ม อย่างที่นักเรียนวิชาเอกภาษาไทยยุคหลังต้องรู้กัน คือเริ่มตั้งแต่ เล่มแรก ที่ชื่อ “มูลบทบรรพกิจ” จนถึงเล่มสุดท้าย คือ “พิศาลการันต์” นั้นก็ได้ตัดเอาบางตอนของกวีนิพนธ์คำกาพย์เรื่อง “พระไชยสุริยา” ไปใช้ด้วย (สุนทรภู่เขียนวรรณคดีคำกาพย์เพียงเรื่องเดียวคือเรื่อง “พระไชยสุริยา” นี่แหละ!) แต่ใครที่มีโอกาสได้อ่านวรรณคดีเรื่องนี้อย่างพิจารณาลุ่มลึก ย่อมจะพบว่า นอกจากท่านสุนทรภู่จะมี “กาพยลีลา” ที่ไพเราะเพราะพริ้งไม่ด้อยไปกว่า “กลอนสุภาพ” ที่เป็นเหมือน “อาชีพหลัก” ของท่านแล้ว เนื้อหาของเรื่องที่ท่านยกมา “สาธก”เพื่อ “นำเข้าบทเรียน” นั้นช่าง “ทันสมัยเจี้ยบ” แบบที่สามารถนำมา “สาธก” ให้ผู้คนในยุคการปกครองประเทศไทยของท่านนายกฯ ลุงตู่ฟังได้แบบแสบทรวงทีเดียว! จะแสบสันต์ยังไงหรือขนาดไหน ถ้าท่านนายกฯลุ่งตู่ว่างจากการ “ปรับดุล” กับท่านพี่ใหญ่แห่ง “3ป.” เรียบร้อยแล้ว ก็โปรดเงี่ยหูตามมาโดยพลัน!!!!