ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ “ตลาดน้ำ” กลายเป็นกระแสบูมรอบหลายปีมานี้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่แล้วของวิถีชนคนริมน้ำ หรือการ “จัดตั้ง” ตลาดน้ำจำลองขึ้นมาใหม่ แฝงฝังไปด้วยระบบตลาดแบบพึ่งพากระแสมวลชน ไม่เว้นแม้กระทั่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเชื่อว่าหาก “จุดติด” ในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งแล้ว ย่อมนำมาซึ่งปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากบรรดานักท่องเที่ยว นักช้อปปิ้ง ฯลฯ อย่างประเมินค่ามิได้ แถมยังสร้างสีสัน ความมีชีวิตชีวาให้ชุมชนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี อย่างน้อย “วิถีตลาด” คือหนึ่งในแบบแผนการใช้ชีวิตคนพื้นถิ่นชายแดนใต้ ที่ชื่นชอบการได้มาพบปะพูดคุย จับจ่ายซื้อหาอาหารหรือสินค้าในตลาดเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัด ตลาดสด ตลาดมือสอง ตลาดน้ำ หรือตลาดตามงานเฉพาะกิจต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การจะดำเนินการเพื่อจุดกระแสหรือประกอบสร้างให้เกิด “ตลาดน้ำ” ที่สมบูรณ์ติดตลาด ก็มิใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต้องมีปัจจัยเอื้อหลายประการประกอบเข้าด้วยกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในพื้นที่ จ.นราธิวาส คือ กระแสการจุดพลุ “ตลาดน้ำตากใบ” กับ “ตลาดน้ำยะกัง” ซึ่งมีจุดก่อเกิดและผลดำเนินงานแตกต่างกันมาก
พื้นที่ อ.ตากใบ นั้น ภายหลังมีการก่อสร้างสะพานเกาะยาวแบบคอนกรีต ความกว้าง 2 เมตร ยาว 360 เมตร เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ “เกาะยาว-ตากใบ” เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนในแง่งามมากขึ้น กลายเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินทางจากแผ่นดินใหญ่สู่เกาะยาว ด้วยการเดินเท้าหรือขี่มอเตอร์ไซด์ผ่านทางสะพานเกาะยาวฝั่งตากใบ หลังจากนั้นจึงเกิดโครงการ “ตลาดน้ำตากใบ” เป้าหมายเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและธุรกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่บนเกาะยาวมีการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบครบวงจรทั้ง ถนน ไฟฟ้า สถานที่ขายของกิน ขายสินค้าพื้นเมือง ฯลฯ
แต่ในที่สุด หลังดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นที่ “ตลาดน้ำตากใบ” คือ กระแสที่เคยคึกคักจากผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวบนเกาะยาว ทั้งคนต่างพื้นที่ นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ชาวจีน ฝรั่งต่างชาติ และชาวบ้านเองเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกมากขึ้น กลับค่อยๆ เงียบหายไป พร้อมกับข่าวคราวที่จะมีการประกอบเรือใหม่หลายสิบลำเพื่อจำลองภาพตลาดน้ำที่สมบูรณ์มอบให้แก่ชาวบ้าน ก็พลอยเงียบหายไปด้วย กลายเป็น “คำถาม” ติดค้างคาในใจใครหลายคน ขณะที่ผู้รับผิดชอบต่างโยกย้ายหายกันไปตามวาระราชการ ซึ่งผิดกับสถานการณ์ที่ “ตลาดน้ำยะกัง” กลับกลายเป็นกระแสนิยมของผู้คนมากยิ่งขึ้น
ชุมชนตลาดน้ำบ้านยะกัง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส อยู่ห่างจากใจกลางเมืองเพียง 4 กิโลเมตร เล่ากันว่า เดิมชุมชนแห่งนี้เคยเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ มีบรรดาพ่อค้าแม่ขายจากหลากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะชาวจีน นิยมมาทำการค้าบริเวณท่าเรือแห่งนี้ ทำให้ชุมชนบ้านยะกังมีความเฟื่องฟูด้านเศรษฐกิจการค้าขายมานับตั้งแต่ครั้งอดีตที่ผ่านมา และเรื่องราวในประวัติศาสตร์ก็ถูกสะท้อนผ่านรูปแบบเชิงสถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือน วัฒนธรรมอาหาร วิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
หากแต่ช่วงเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหลายๆ พื้นที่ที่ผู้คนมักไม่ค่อยกล้าที่จะเข้าไปเยือนไปสัมผัส ทำให้ชุมชนเกิดความซบเซา ระบบเศรษฐกิจถดถอย “ชุมชนตลาดน้ำยะกัง” ก็เป็นหนึ่งในนั้น ตราบกระทั่งปี พ.ศ.2555 นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น มีแนวคิดว่า สถานที่แห่งนี้เหมาะที่จะพัฒนาเป็นตลาดน้ำและเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่จะเป็นสื่อกลางทำให้ระบบเศรษฐกิจกลับมาเฟื่องฟูเหมือนครั้งอดีต จึงได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง ร้านค้า ห้องน้ำ และศาลาอเนกประสงค์ จนเมื่อกลางปี พ.ศ.2559 ชุมชนยะกัง 1 ได้รวมตัวกันและแต่งตั้งคณะกรรมการตลาดน้ำชุดแรกขึ้น โดยกำหนดให้ไปศึกษาดูงานที่ตลาดน้ำคลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการจัดการ “ตลาดน้ำยะกัง ขนม 100 ปี” และได้เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2559 จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 1 ปีเศษ เปิดให้บริการทุกวันศุกร์ - เสาร์ เวลา 12.00น. -20.00น.
ทุกท่านที่ได้มาเยือนตลาดน้ำยะกังหรือที่มีชื่อเต็มๆ ว่า “ตลาดน้ำยะกัง ขนม 100 ปี” แห่งนี้ จะได้สัมผัสบรรยากาศริมคลอง เรียนรู้วิถีชาวบ้านชุมชนยะกัง เลือกซื้ออาหารในราคาสบายกระเป๋า รสชาติอร่อยและไม่เหมือนที่ไหน สะอาดปลอดภัยไร้สารพิษ และที่สำคัญ ได้รู้จักกับอาหารและขนมพื้นเมืองสูตรโบราณหายากมากมาย อาทิ ขนมบาตาบูโระ ขนมปูตูฮาลือบอ ขนมจูโจ ขนมเจ๊ะแมะ นาซิดาแฆ เป็นต้น ตลาดน้ำแห่งนี้มีร้านให้เลือกซื้อมากกว่า 50 ร้านค้า แต่ละร้านขายอาหารที่ไม่ซ้ำกันอีกด้วย ผู้มาเยือนสามารถซื้ออาหารมานั่งรับประทานแบบสบายๆ ชมชื่นซึมซับบรรยากาศคลองยะกังที่โอบล้อมด้วยพรรณไม้นานาชนิด วิถีชาวบ้านขณะออกหากุ้งหาปูหาปลา เพลิดเพลินไปกับการแสดงของเหล่าเยาวชนในท้องถิ่น เรียกได้ว่าอิ่มท้องแถมอิ่มอกอิ่มใจกันเลยทีเดียว นอกจากนี้มีบริการเรือถีบให้ปั่นในราคาเที่ยวละ 40 บาท หรือเรือท่องเที่ยวพาชมวิถีชุมชนริม 2 ฝั่งคลองยะกังในราคาเหมาลำ 300 บาท
ผู้เขียนมีโอกาสได้สนทนากับ นายอาเรส หะยีนาแว ประธานกลุ่มตลาดน้ำยะกัง ทำให้ได้รับทราบถึงรายละเอียดหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่นการวางกฎระเบียบการค้าขายของตลาดน้ำแห่งนี้ว่า การขายอาหารและขนมต่างๆ บริเวณตลาดน้ำยะกัง จะต้องมีการแจ้งให้กับคณะกรรมการให้ทราบก่อนวางขาย เพื่อไม่ให้อาหารที่ขายซ้ำกัน ในกรณีที่มีการขายซ้ำกันจะถือว่าผู้ที่มาลงทะเบียนก่อนมีสิทธิ์ในการขาย และไม่อนุญาตให้ร้านค้าอื่นขายอาหารหรือขนมชนิดนั้นอีก รวมถึงมีกฏกติกาหลายอย่างที่ต้องดูแลรับผิดชอบร่วมกัน
“เรื่องของราคาจำหน่ายนั้น ทางคณะกรรมการได้กำหนดราคากลางไว้ คือ แต่ละร้านค้าต้องจำหน่ายสินค้าหรือของกินไม่เกิน 20 บาทต่อ 1 อย่าง เว้นแต่รายการอาหารบางอย่างที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการแล้ว ที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องการรักษาความสะอาดของร้านค้าบริเวณรอบๆ ตลาดน้ำ ตลอดจนภาชนะในการปรุงอาหารและขนมต่างๆ ให้ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเราจะเน้นในเรื่องนี้มาก เพื่อให้ที่แห่งนี้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สร้างความประทับใจให้กับบรรดาผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยวให้มากที่สุด”
กล่าวได้ว่า หากใครมีโอกาสได้ไปเยือนบรรยากาศตลาดน้ำยะกัง สิ่งที่สัมผัสได้ชัดเจน คือ มวลความสุขผ่านดวงตาและรอยยิ้มของผู้คน เช่นที่แม่ค้าร้านสุกี้บอกเล่าถึงความรู้สึกที่มีตลาดน้ำว่า ดีใจมากที่มีตลาดน้ำยะกังแห่งนี้ เพราะทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนให้คึกคัก จากเมื่อก่อนบางคนเป็นเพียงแม่บ้านใช้ชีวิตเลี้ยงลูกอยู่บ้านไม่ได้มีอาชีพเสริมอะไร แต่พอมีการจัดการตลาดน้ำแห่งนี้ขึ้นมา ทำให้มีรายได้เสริม ทำให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้เห็นผู้คนมากมายมาเที่ยวซื้ออาหารรับประทานกันอย่างมีความสุข
“ตลาดน้ำยะกัง ขนม 100 ปี” จึงเปรียบเสมือนแบบจำลองที่สมบูรณ์ของการใช้ชีวิตอย่าง “พอเพียง” การดำรงวิถีชีวิตเรียบง่าย สมถะ มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่ดำรงมายาวนาน ผ่านการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนซึ่งยินดียิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสุขให้พี่น้องทุกคนที่มาเยือน