ดร.วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
เหลือเวลาอีกเพียงปีเดียว ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้เริ่มต้นและสร้างรากฐานการพัฒนาไว้ให้กับนักการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลต่อจากรัฐบาล คสช. ในปีหน้า โจทย์ที่ยากและสะสมเป็นกับดักที่เป็นหลุมดำของประเทศคงไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจกับการสร้างคนมาพัฒนาประเทศ
ดูจากการปรับ ครม.ประยุทธ5 เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลจะเน้น 2 เรื่องนี้ให้เกิดรากฐานให้ได้ โดยรองนายกฯสมคิด ต้องมารับผิดชอบกระทรวงเศรษฐกิจถึง 8 กระทรวง หมดอุดม ไปวางรากฐานการพัฒนาอุดมศึกษาเพื่อสร้างคนที่เป็น “ทุนมนุษย์” ให้ได้
รองนายกฯสมคิด คงต้องเน้นไปที่โครงการขนาดยักษ์ EEC ให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ที่ไปเชื้อเชิญเขามาร่วมลงทุนพัฒนาถึง 500-600 คน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา น่าจะต้องละลายโจทย์ยากๆให้ง่ายจากขั้นตอนที่ซับซ้อนแบบไทยๆคงไม่ทันการ ม.44 ในบางเรื่องอาจต้องใช้ลัดขั้นตอนเพื่อประโยชน์ได้บ้าง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า ล้านล้านบาท คือการประกาศให้นักลงทุนเขามั่นใจให้เริ่มต้นได้ภายใน 1 ปี ถ้ารอให้รัฐบาลเลือกตั้งเข้ามาทำ มั่นใจว่าคงสำเร็จยากด้วยงบประมาณมหาศาลและการช่งวงชิงผลประโยชน์จากงบประมาณ
- รถไฟความเร็วสูง 158,000 ล้าน
- มอเตอร์เวย์ 35,000 ล้าน
- รถไฟรางคู่ 64,300 ล้าน
- สนามบินอู่ตะเภา 215,000 ล้าน
- ท่าเรือแหลมฉบัง 35,000 ล้าน
- ท่าเรือมาบตาพุด 10,150 ล้าน
- พัฒนาเมืองใหม่ 400,000 ล้าน
- พัฒนาอุตสาหกรรม 500,000 ล้าน
- พัฒนาการท่องเที่ยว 200,000 ล้าน
โครงการนี้รัฐบาลต้องทุ่มเทการขับเคลื่อนไม่เฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะต้องร่วมบูรณาการให้เกิดครบวงจรทุกกระทรวง ทั้งในการเตรียมคนและความสะดวกในการลงทุน รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวชาวญี่ปุ่น และคนไทยด้านมลภาวะต่างๆที่อาจเกิดขึ้นเหมือนโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่ผ่านมาได้
ในส่วนของประเด็นสร้างคนให้เป็นทุนมนุษย์ เน้นมาที่การศึกษา ชัดเจนแล้วว่าข้อสรุปของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาและนายแพทย์อุดม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่รับผิดชอบการพัฒนาอุดมศึกษา ต่างยอมรับว่า ถึงเวลาที่ต้องจัดตั้ง “กระทรวงอุดมศึกษา” เพื่อผ่าตัดและปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษาของไทยเข้าสู่โหมดของการผลิตบัณฑิตให้รองรับกับเป้าหมายของประเทศและการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน
ใน 8 ยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปอุดมศึกษาและนโยบายของนายแพทย์อุดม ต่างสอดคล้องกันในการแยกอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการและกำหนดบริบทการพัฒนาอุดมศึกษาของ รมช.ศธ. คนใหม่ที่เป็นนักการศึกษาและผู้บริหารอุดมศึกษามาก่อนที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น
- สร้างคนที่มีคุณภาพสูง สามารถทำงานได้ทั่วโลก
- งานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชนต่อยอดเป็นสินค้าที่มีมูลค่า
- ปรับวิธีการสอนจากเล็กเชอร์มาเป็นภาคปฏิบัติและทำงานจริงมากขึ้น
- ปรับหลักสูตรให้มีการเรียนข้ามศาสตร์ ข้ามคณะ
- ปรับหลักสูตรให้ทันโลก
- หลักสูตรของผู้สูงอายุให้สามารถไปทำงานได้
- นักศึกษาและอาจารย์มีความสามารถภาษาอังกฤษและดิจิทัล
- จัดสรรงบประมาณให้เฉพาะมหาวิทยาลัยที่กำหนดนโยบายตามเป้าหมายของรัฐบาลเท่านั้น
- ท้ายสุดคือการตั้งกระทรวงอุดมศึกษา บริหารในส่วนของนโยบายส่วนกำกับดูแลและส่วนงานปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล
ฟังดูแล้วโจทย์ของอุดมศึกษาที่สะสมมานาน คงได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณ ถ้าไม่ปรับตามยุทธศาสตร์และเป้าหมายของประเทศในส่วนการผลิตและวิจัย-นวัตกรรม จะไม่จัดสรรงบประมาณให้ ให้ใช้งปบระมาณของตนเองที่มีรายได้สะสมกันอยู่มาก ตรงนี้ที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงเข้าไปสู่การสร้าง “ทุนมนุษย์” ที่แท้จริง
ทั้ง 2 เรื่อง คือ การเกิด EEC กับการเกิดกระทรวงอุดมศึกษาเพื่อสร้างคนมาพัฒนาประเทศ หากเริ่มต้นได้ภายใน 1 ปี เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกระเตื้องจาก 3.8% ไปอีกเท่าตัว เพียงแต่รัฐบาลที่เป็นฝ่ายนโยบายจะต้องขับเคลื่อนให้เกิด outcome ไป impact กับยุทธศาสตร์ชาติอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องรับโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงนั้นให้ได้