การมองสังคมประเทศใดประเทศหนึ่ง เราพึงมองอย่างมีมิติของกาลเวลา อย่างเรื่องของสังคมไทยนั้น ไม่ควรมองแค่ช่วงห้าปีสิบปี แล้วจะเข้าใจสังคมไทยได้ถ่องแท้
ลองมองย้อนกลับไปหนึ่งร้อยปีก่อน เราก็อาจจะไม่ตื่นเต้นกับปัญหาในสังคมไทยปัจจุบันกันนัก เพราะในอดีตหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา สังคมไทยเผชิญปัญหาร้ายแรงมาแล้ว
แต่สุดท้ายก็ยังรักษาความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรืองอย่างไม่น่าขายหน้า เมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศเอเชียประเทศอื่น ๆ
ปัญหาร้ายแรงเมื่อครั้งไทยต้องต่อสู้กับการล่าอาณานิคมของฝรั่งตะวันตก เป็นปัญหาระดับความเป็นความตายของชาติไทย ซึ่งเราเอาตัวรอดผ่านมาได้ พูดถึงความเสียหายก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมากมายมหาศาล แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังรักษาความเป็นเอกราชไว้ได้
เรารักษาเอกราชไว้ โดยแลกกับการเปลี่ยนแปลงตัวเองมาก อย่างที่บางท่านวิจารณ์ว่าสังคมไทยสูญเสียอัตลักษณ์ รับเอาค่านิยมแบบตะวันตกเข้ามาแทนที่
แต่ถ้ามาคิดดูว่า สังคมโลกช่วงต่อมาก็ไม่มีประเทศไหนรอดพ้นไปจากการรับวัฒนธรรมตะวันตก การหันไปมีค่านิยมแบบตะวันตกมากขึ้นเรื่อย ๆ
การที่ไทยปรับตัวเสียก่อน ไม่ใช่จุดผิดพลาดร้ายแรงอะไร
ปัญหาที่ผลกระทบรุนแรงต่อสังคมไทยช่วงหนึ่งก็เห็นจะเป็นในยุคที่เผด็จการฟาสซิสต์เป็นที่แพร่หลายในโลก ผู้นำประเทศของเราที่เปลี่ยนแปลงอะไร ๆ ในสังคมไทยอย่างมากคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม บางเรื่องยังมีลมาถึงปัจจุบัน บางเรื่องล้มเหลวละเลิกไป
ชื่อประเทศ “ราชอาณาจักรสยาม” เปลี่ยนเป็นราชอาณาจักรไทย แล้วใช้ภาษาอังกฤษว่า Thailand เปลี่ยนกันได้ก็เพราะอำนาจทางการปกครอง เรือง “ชื่อ” นั้นอาจไม่มีผลทางจิตวิทยาสังคมหรือค่านิยมทางสังคมมากนัก แต่แนวความคิด “ชาตินิยมจัด” ในยุคนั้น ได้สร้างระบบคิดสร้างความเชื่อฝังรากแน่นไว้ในสังคมไทย ประวัติศาสตร์ที่เน้นให้ชาติไทยเป็นใหญ่ ยังสร้างปัญหาความัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมาจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ท่านผู้นำจะเรืองอำนาจมากในยุคนั้น ได้สร้างบางเรื่องบางสิ่งที่มีผลกระทบด้านลบไว้ในสังคมไทยไม่น้อย แต่ชาติไทยเราก็เปลี่ยนแปลงหลุดพ้นจากภาวะการถูกครอบงำอย่างนั้นมาได้
ปัญหาใหญ่ในยุคต่อมาคือสงครามตัวแทนระหว่างค่ายทุนนิยมเสรีกับค่ายคอมมิวนิสต์
มาถึงยุคโลกาภิวัตน์ ไทยก็เป็นประเทศแนวหน้าที่ริเริ่มปรับตัวรับสถานการณ์โลกใหม่ได้ แม้ว่าจะหละลหลวมจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ “โรคต้มยำกุ้ง” แต่ก็ไม่ถึงกับล่มจมฟื้นตัวไม่ขึ้น
ปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศขณะนี้คือ เราจะพัฒนาตามโลกยุค 4.0 กันให้รวดเร็วได้อย่างไร? จะร่วมขบวนเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างมีอัตลักษณ์ได้อย่างไร ? การพัฒนานั้นเป็นกระบวนการ อย่ามองอะไรหยุดนิ่ง