ตีโฉบฉวย / เสือตัวที่ 6 ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2001 สหรัฐฯ ร่วมกับ สหราชอาณาจักร บุกโจมตีตาลีบันอย่างรวดเร็ว ข้อกล่าวหาว่า มีส่วนเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 9/11 ในการขับเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในสหรัฐฯ โดยผู้ประกาศตัวว่าเป็นคนก่อการร้าย คือ โอซาม่า บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ และเชื่อว่ากลุ่มอัลกออิดะห์ กับ ตาลีบัน มีความสัมพันธ์ต่อกันในฐานะ กองทหารอิสลาม (Islamist Militant Group) แบบเดียวกัน เหล่านี้คือที่มาของการปฏิบัติการทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรจำนวนหนึ่ง โดยการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด ถล่มทำลายที่มั่นของตาลีบันทั่วประเทศ และสุดท้ายใช้ระยะเวลาการรบแค่ 1 เดือนเท่านั้น ตาลีบันก็แตกพ่าย ขณะที่บิน ลาเดน ก็หนีออกจากอัฟกานิสถานไปกบดานที่ปากีสถานแทน การเข้ายึดครองของกองทัพสหรัฐฯ หลังจากการแตกพ่ายของกลุ่มตาลีบันในครั้งนั้น ทำให้สหรัฐฯ ต้องเข้าไปติดหล่มการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายโดยเฉพาะกลุ่มตาลีบันที่ใช้กลยุทธ์แบบกองโจร รบยืดเยื้อยาวนาน ทำลายศักยภาพของกองทหารสหรัฐฯ ที่รบแบบคนรวย ด้วยค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณอย่างมหาศาล ที่ใช้เวลาทำสงครามนอกประเทศยาวนานร่วม 20 ปี ในระหว่างปี 2002-2020 สหรัฐอเมริกา ใช้เงินไปกับสงครามครั้งนี้ เพื่อต่อสู้กับตาลีบัน และปกป้องคนอัฟกานิสถาน ตลอดจนสร้างประเทศอัฟกานิสถานตามแบบที่สหรัฐฯ ต้องการนั้น ได้ใช้เงินไปแล้ว 815,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และใช้เงินสำหรับสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่โดนทำลายจากสงคราม เป็นเงินอีก 130,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมแล้วเป็นเงิน 946,200 ล้านดอลลาร์ ถ้าแปลงเป็นเงินไทย ก็เท่ากับ 31 ล้านล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ คือภาษีของคนสหรัฐฯ นอกจากนั้น ยังมีทหารในสหรัฐฯ ที่เสียชีวิตที่อัฟกานิสถานอีกจำนวนมากหลักสองพันกว่าคน อนาคตอันมืดมน และคำถามที่เกิดขึ้นจากคนในสหรัฐฯ รวมทั้งภาวะทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากปัญหาโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจภายในของสหรัฐฯ เอง ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ในที่สุด สิ่งที่กลุ่มตาลีบัน วิเคราะห์บทเรียนในอดีต และคาดการณ์ธรรมชาติของกองทัพสหรัฐฯ และคนสหรัฐฯ ที่เป็นจริงก็มาถึง การรบด้วยทหารแบบคนรวย ที่มีค่าใช้จ่ายสูง และสงครามยืดเยื้อที่หาวันสิ้นสุดไม่ได้ ตลอดจนสงครามแบบกองโจรที่ฝ่านทหารสหรัฐฯ มีโอกาสเสียชีวิตแบบไม่รู้ตัวได้ทุกเมื่อ รวมทั้งการรบที่ต้องห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนเป็นเวลานาน เป็นคำถามขึ้นในใจทหารเหล่านั้นว่า พวกเขาต้องมาทำสงครามที่นี่อย่างยาวนานเพื่ออะไร เหล่านี้จะบั่นทอนขวัญทหารฝ่ายสหรัฐฯ โดยเฉพาะประชาชนสหรัฐฯ ที่ตั้งคำถามว่าสหรัฐฯ จะสร้างสันติภาพในอัฟกานิสถานไปอีกนานแค่ไหน คำถาม และข้อคับข้องใจในประเด็นต่างๆ ข้างต้น ได้ละม้ายคล้ายคลึงกับคำถามและข้อคับข้องใจในสงครามเวียดนามเมื่อหลายปีก่อน ที่สหรัฐฯ ต้องถอนทหารออกจากเมืองหลวงเวียดนามใต้ จนทหารเวียดกงรุกเข้ายึดเวียดนามทั้งประเทศได้อย่างราบคาบในที่สุด นี่คือบทเรียนราคาแพงที่สหรัฐฯ เจ็บปวดอย่างมากเมื่อครั้งนั้น และเป็นบทเรียนที่กลุ่มตาลีบันได้ถอดบทเรียนเหล่านั้น มาวิเคราะห์จนตกผลึกว่า ธรรมชาติของกองทัพอันยิ่งใหญ่ รบแบบผู้ดี มีความหรูหรา แม้จะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ล้ำสมัยมากมายเพียงใด หากต้องตกอยู่ในสงครามยืดเยื้อ แบบกองโจรที่หาจุดสิ้นสุดไม่ได้ วันแห่งความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์โดยการต้องถอนทหารออกไปจากสมรภูมิ ก็จะต้องเกิดขึ้น นี่คือยุทธศาสตร์การทำสงครามแบบเจ้าถิ่นมีความถนัด ทหารกองโจรกลุ่มตาลีบัน กินง่าย อยู่ง่าย รบด้วยอุดมการณ์เพื่อแผ่นดินเกิด แผ่นดินแห่งความเชื่อ แผ่นดินแห่งความศรัทธาโดยมีหลักการทางศาสนาเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งต่างกับทหารสหรัฐฯ ที่นับวันจะมีคำถามขึ้นในใจมากขึ้นๆ เป็นเงาตามตัวกับกาลเวลาที่ผ่านไป ว่า พวกเขาทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาให้มารบที่นี่ รบกับกลุ่มกองโจรที่เคยทำร้ายทำลายผู้คนสหรัฐฯ ทำลายเกียรติภูมิของประเทศสหรัฐฯ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน และมันเพียงพอหรือยังที่จะปล่อยให้คนอัฟกานิสถานโดยการอุ้มชู สร้างเสริมเติมแต่งให้ตลอด 20 ปีนี้ ได้รับผิดชอบแผ่นดินและคนของตัวเองได้แล้ว ด้วยความฝืดเคืองของฐานะทางเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐฯ เอง ที่ตกต่ำย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ล้วนเป็นตัวเร่งให้ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่อย่าง โจ ไบเดน ต้องตัดสินใจทำอย่างนี้ ตามที่เคยกล่าวตอนหาเสียงเลือกตั้งว่า “End the forever wars” หรือจบสงครามที่ไม่มีที่สิ้นสุดนี้ และย้ำเมื่อ 14 เมษายน 2021 อีกว่า จะถอนทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานในวันที่ 11 กันยายน 2021 และจากนั้น ก็ให้เป็นภาระหน้าที่ของอัฟกานิสถาน ที่จะต้องดูแลตัวเองแล้ว และเมื่อสหรัฐฯ เริ่มถอนกองทัพออกไปทยอยบางส่วนเรื่อยๆ แล้ว ทำให้ตาลีบันที่สร้างสมกองกำลังเอาไว้ตลอดมา โดยมีทหารพร้อมรบมากกว่า 85,000 คน ด้วยอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่จะต่อสู้เพื่อแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อที่จะสร้างแผ่นดินนี้ให้เป็นพื้นที่อันบริสุทธิ์ที่สุดตามหลักการทางศาสนาที่พวกตนเชื่อมั่นศรัทธา ทหารตาลีบันจึงสามารถรุกคืบเข้ายึดเมืองต่างๆ จนถึงเมืองหลวงคาบูลอันเป็นเมืองหลวงของประเทศได้อย่างรวดเร็ว โดยที่กองทัพของรัฐบาลอัฟกานิสถาน ที่ถูกสร้างมาด้วยมือของสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน ไม่สามารถต่อต้านใดๆได้เลย แม้จะมีกำลังทหารที่ได้รับการฝึกปรือมาอย่างยาวนาน ทั้งมีอาวุธยุทโธปกรณ์อันล้ำสมัยที่กองทัพสหรัฐฯ หยิบยื่นให้ไว้อย่างมากมาย กลุ่มตาลีบันประกาศชัยชนะ หลังสามารถยึดครองเมืองต่าง ๆ ทั่วอัฟกานิสถานได้โดยสมบูรณ์ ทั้งยังแถลงว่าสงครามที่ยาวนานถึง 20 ปีได้สิ้นสุดลงแล้ว ในขณะที่รัฐบาลพลเรือนของอัฟกานิสถานล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ประธานาธิบดีของอัฟกานิสถาน บินหนีออกนอกประเทศไปแล้ว เช่นเดียวกับประชาชนนับแสนคน ที่ต้องการหนีออกจากประเทศเช่นกัน ปรากฏการณ์นี้จึงเป็นบทเรียนราคาแพงไม่เพียงแต่สหรัฐฯ เท่านั้น หากแต่เป็นบทเรียนที่กลุ่มตาลีบันได้ตอกย้ำให้ทหารในกองทัพทุกประเทศในโลกนี้ ได้ตระหนักว่า การทำสงครามแบบคนรวย ใช้ชีวิตหรูหรา บนผลประโยชน์ทางสวัสดิการทหารที่มากเกินไป และทำไปตามหน้าที่ ตามบัญชาของผู้บังคับบัญชา ทั้งไม่รู้ว่ารบกับใคร รบไปเพื่ออะไร ไม่เห็นจุดสุดท้าย (End State) ที่ชัดเจน ย่อมพ่ายแพ้ต่อฝ่ายตรงข้ามที่รบเพื่อแผ่นดินบรรพบุรุษ และรบเพื่ออุดมการณ์ตามความเชื่อที่ทรงพลัง