การจัดการปัญหากรณีประชาชนไม่พอใจผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีและนนทบุรี อันสืบเนื่องจากการบริหารจัดการเรื่องคิวในพีธีถวายดอกไม้จันทน์ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระเมรุมาศจำลอง ศาลากลางจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น
กระทรวงมหาดไทย ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น โดยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้นโยบายว่า ขอให้คณะกรรมการตรวจสอบดูข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน ทั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดรวมทั้งกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับความสะดวกในวันงานดังกล่าวว่าเกิดอะไรขึ้น มีการร้องเรียนหรือไม่พอใจในประเด็นอะไร ขอให้ตรวจสอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ล่าสุดมีข่าวว่าได้เสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนมีมติโยกย้ายสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งระหว่าง นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และนายภาณุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์
จากเหตุการณ์ดังกล่าว แม้จะมีมิติที่ซับซ้อน แต่สิ่งที่ชัดเจนคือวิวัฒนาการของ “การเมืองภาคประชาชน” ในยุครัฐบาลทหาร ภายใต้สถานการณ์ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ยังไม่ปลดล็อกให้ทำกิจกรรมทางการเมือง แต่กลับมีการเคลื่อนไหวของมวลชนบนท้องถนน
ขณะเดียวกันท่าทีของคสช. ผ่านคณะรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย ย่อมสะท้อนความอ่อนไหวต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปลายของโรดแมป
ควบคู่ไปกับข่าวสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ที่ระบุถึงความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ลดลงจาก 78.4% ในเดือนกรกฎาคมมาอยู่ที่ 52%
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่อาจสรุปได้ว่า อำนาจของคสช.ในวันนี้ลดลงแต่อย่างใด