ดร.วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
อีก 2 วัน จะถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ่อหลวงของปวงชนของแผ่นดินไทย ที่ทรงมีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อพสกนิกรทุกหย่อมหญ้าตลอดระยะเวลา 70 ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์
พระองค์ทรงสละพระวรกายทรงงานในภูมิภาคที่ทุรกันดารมากกว่าปีละ 7 เดือน เพื่อทรงรับฟังปัญหา อุปสรรค ที่เป็นโจทย์ของชาวบ้านที่ยากจน นำมาแก้ไขแบบเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนามากกว่า 4 พันโครงการ ล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ปวงชนชาวไทยในทุกภูมิภาคและทุกหัวระแหงที่ห่างไกลความเจริญ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้อยู่ดีกินดีแก่พสกนิกรของพระองค์ตลอดพระชนมายุ เป็นที่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมแก่ชาวโลกที่ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “ King of King” โดยแท้
ปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นศาสตร์พระราชาที่หลายประเทศนำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศ ด้วยอัจฉริยภาพของพระองค์โดยแท้ พระองค์ท่านได้ทรงเน้นด้านการเกษตรให้เกษตรกรมีอาชีพที่ยั่งยืนและได้ผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์ เพราะพระองค์ท่านเข้าใจ เข้าถึง ตัวปัญหาด้วยพระองค์เอง แล้วจึงพัฒนาครบวงจรของปัจจัยการผลิต ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ ฯลฯ
รัฐบาลและหน่วยงานได้นำโครงการพระราชดำริมาพัฒนาต่อเนื่องตามรอยเบื้องพระยุคลบาท นำพาประเทศไทยพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 70 ปี สร้างประเทศไทยยืนอยู่บนโลกใบนี้อย่างมีศักดิ์ศรีและเป็นแบบอย่างการพัฒนาด้วยพระวิสัยทัศน์ การวิจัยและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม จึงเกิดนวัตกรรมและโครงการต่างๆที่เป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อประโยชน์สุขของราษฎรทั่วภูมิภาคเช่นนี้
ปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง” สะท้อนให้เห็นถึงการรับรู้ปัญหาที่ระเบิดจากข้างในหรือภายในของชุมชน คือโจทย์ที่จะนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจัย ในรูปแบบของ Social Lab ที่รัฐบาลจนถึงหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย และนักวิจัย พึงต้องลงไปที่ Social Lab มากกว่าในห้อง Lab ที่วิจัยแล้วไม่สามารถบูรณาการต่อยอดให้เกิดมูลค่า คุณค่า หรือแก้ปัญหาของชุมชนได้
นโยบายของรัฐบาลทั้งโครงการประชารัฐ และ Social Engagement จึงเป็นนโยบายที่ผู้เกี่ยวข้องต้องบูรณาการให้เห็นถึงปัญหา ให้เห็นถึงโจทย์ และความยั่งยืนของชุมชนอย่างแท้จริง แทนที่จะวิจัยเพื่อให้ได้มาเพื่อตำแหน่งทางวิชาการแล้วเก็บวางบนหิ้ง มหาวิทยาลัยพึงต้องนำมาบูรณาการกับการเรียนการสอนและบูรณาการกับชุมชนในรูปแบบ Social Research เพื่อความยั่งยืนของชุมชน นั่นคือภารกิจของนักวิจัยที่อยู่ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
เป้าหมายของประเทศไทย 4.0 มีอยู่แล้ว ที่ต้องการให้แรงงานเกษตรกรถึง 40% ของประเทศ แต่มีรายได้ 10% ของ GDP เปลี่ยนไปสู่เกษตรกร 40% สร้างรายได้ 40% ของ GDP ควบคู่ไปกับรายจ่ายด้านการวิจัยและนวัตกรรมจาก 0.62% ให้เป็น 1.5% ในปี 2564 แม้ว่าจะมีนักวิจัยเพียง 1,000 คนใน 1 ล้านคนก็ตาม แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์เดียวยังสร้างประเทศไทยมาได้ถึงขนาดนี้ นั่นคือพวกเราต้องร่วมกันนำเอาปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางการพัฒนาเพื่อชาติกันให้มาก
26 ตุลาคม ประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะได้ร่วมใจกันวางดอกไม้จันทน์ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้วยความโศกเศร้าปิ่มหัวใจจะแตกสลาย แต่คำที่พ่อสอนในการเป็นคนดี สร้างความดี และปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง” อันเป็น “ศาสตร์พระราชา” อันยิ่งใหญ่ยังคงสถิตอยู่ในหัวใจของคนไทยทั้งประเทศตราบนิจนิรันดร์ ขอน้อมถวายความอาลัยส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม