ดร.วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านของรัฐบาลที่ประชุมลับของครม.ที่ผ่านมา มีทีท่าจากฝ่ายที่เป็นฝ่ายตรงข้ามว่า ไม่ควรเป็น พ.ร.ก. น่าจะเป็น พ.ร.บ.ที่มีรายละเอียดมากกว่านี้
ฝ่ายค้านเตรียมตั้งป้อมซักฟอกรัฐบาลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.งบประมาณ 65 กับ พ.ร.ก.เงินกู้อีก 5 แสนล้านบาท ด้วยท่าทีอันแข็งกร้าว เพราะไม่มีรายละเอียดการใช้เงินระบุไว้ เกรงว่าอาจจะใช้เงินที่ผิดเป้าหมายและไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐต้องเตรียมรับมือกับฝ่ายค้านให้ได้
การเสนอโครงการเพื่อรับหลักการเบื้องต้นคงไม่มีรายละเอียดปลีกย่อยมากนัก จะมีแต่หลักการและเหตุผลความจำเป็น งบประมาณที่จะใช้ ใช้ทำกิจกรรมในภาพรวมอย่างไรและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ แม้จะมีเพียง 4-5 หน้าก็พอเพียง แต่การที่เป็นเรื่องลับ ไม่มีการเปิดเผย ทำให้ผู้คนต่างแคลงใจว่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่
ในความเป็นจริงรัฐบาลได้สำเร็จบทสรุปสำหรับผู้บริหาร โดยมีรายละเอียดคร่าวๆไว้แล้ว อาจจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง เช่น
1.รองรับกับการระบาดโควิดระลอกใหม่ 3 หมื่นล้านบาท
2.แผนเยียวยาชดเชยให้กับกลุ่มต่างๆที่ประสบโดยตรง 3 แสนล้าน
3.แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.7 แสนล้าน
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรต้นเดือน มิ.ย.นี้ รัฐบาลพึงระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่าแต่ละแผนนั้นจะใช้กับคนกลุ่มใด เป็นรายการละเท่าใดและจะเกิดผลอย่างไรเพื่อให้หายข้องใจของฝ่ายค้านที่น่าจะไม่ยอมให้ พ.ร.ก.และพ.ร.บ.งบประมาณผ่านไปได้ง่ายๆ
ในอีกฟากของประชาชน อดีต รมต.คลัง ได้ฟ้องศาลว่าการกู้เงินผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถกระทำได้เพราะนอกจากไม่ละเอียดแล้ว ยังไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์อันใดกับประชาชน เพียงแต่รัฐบาลมีการเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายอยู่ในมือเท่านั้น
จริงอยู่การมีเงินสะสมไว้ และไม่กระทบกับการเงินการคลังของประเทศเพราะไม่เกิน 60% ที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่ปัญหาคือการใช้หนี้สินคืนต่างหาก จะเอาจากที่ไหนมาใช้ จึงควรเป็นคำตอบที่เห็นชัดๆว่าจะทำอย่างไร
การชี้แจงรัฐบาลต้องสรุปให้เห็นภาพ เช่น
Input = การนำงบประมาณเข้าไปในกิจกรรม
Process= มีกรรมวิธีในแต่ละเรื่องอะไรบ้าง
Output= ผลจากกิจกรรม
Outcome= ผลลัพธ์ที่ได้รับ
Impact= ประสิทธิภาพที่กระทบกับเศรษฐกิจประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยามที่ประเทศมีวิกฤติเช่นนี้จำเป็นอยู่เองต้องมีงบประมาณไว้สนับสนุน เพราะงบประมาณปกติไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การเตรียมการรองรับไว้สมควรที่จะกระทำ เพียงแต่รัฐบาลจะมีคำตอบอย่างไรเท่านั้น