ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] สัปดาห์หน้าน่าจะได้เวลาเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระ 1/2564 กันแล้ว ฝ่ายค้านเตรียมการในการอภิปรายเรื่องใหญ่ๆ 3 เรื่อง ได้แก่ พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 กับ พ.ร.บ.ประชามติและการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ทั้ง 3 เรื่องรัฐบาลต้องเตรียมตัวไว้กับการอภิปรายโดยเฉพาะงบประมาณกับการไม่ไว้วางใจรัฐบาล จะมีเรื่องใดที่เป็นพิเศษให้ฝ่ายค้านเข้าใจได้ 1.งบประมาณปี 2565 มีงบประมาณของกองทัพกระจัดกระจายอยู่ตามกองทัพต่างๆ ฝ่ายค้านคงพยายามให้รัฐบาลตัดงบประมาณในส่วนนี้ออกไป ช่วยงานสาธารณสุขก่อน และงบลงทุนบางส่วนของหน่วยรับงบประมาณโดยเฉพาะที่มิใช่เรื่องเร่งด่วน รัฐบาลต้องเตรียมตัว เตรียมข้อมูลไว้ต่อสู้กับฝ่ายค้าน 2.พ.ร.บ.ประชามติ ที่ค้างมาจากการลงมติจากการประชุมครั้งที่แล้วเพราะไม่ลงตัวกับวิธีการและยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะเอาอย่างไรกับการลงมติของประชาชน ตคงไม่มีข้อใดที่ทำให้รัฐบาลต้องหนักใจ เป็นการลองเชิงของฝ่ายค้านกับรัฐบาล 3.การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยไม่ลงมติเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องยอมให้ฝ่ายค้านอภิปรายได้เต็มที่ และมีหลายประเด็นที่ต้องถูกโจมตี เช่น -การบริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ดูเหมือนว่าจะขาดประสิทธิภาพ ปล่อยให้ผู้คนตายเป็นว่าเล่น วันละไม่น้อยกว่า 20 คน -การเตรียมการเรื่องสถานพยาบาลไม่ลงตัว ผู้ป่วยต้องรอแล้วรออีก -วัคซีนที่จะใช้ฉีดล่าช้า เพราะการตัดสินใจเชิงประมาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำให้การระบาดโควิด-19 ขยายตัวอย่างรุนแรง ถึงขั้นเกือบจะวิกฤติของ ICU ทำให้มีผู้ป่วยขั้นรุนแรงไม่น้อยกว่า 1,000 คนและมีโอกาสตายสูง ส่วนการลงทะเบียนฉีดวัคซีนจาก 16 ล้านคนในวาระแรกแต่มีผู้ลงทะเบียนไม่ถึงร้อยละ 50 เพราะเขากลัวผลข้างเคียงที่รุนแรงกว่า -ยาฟาวิพิลาเวียร์ที่สั่งซื้อมาเม็ดละ 50 บาท หลายล้านเม็ดก็ไม่ทันการณ์และพอเพียงกับผู้ป่วย ทั้งๆที่ยานี้น่าจะผลิตได้เองโดยองค์การเภสัชกรรม แต่รัฐบาลไม่สนใจ เพียงแต่สั่งซื้อเท่านั้นเพราะทราบว่าติดลิขสิทธิ์อยู่ แต่น่าจะหมดอายุไป น่าจะลองทบทวนดู -ความไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งรัฐมนตรีนี้ไม่เหมาะสมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะคนหลังสุดนี้มีเรื่องต้องรอการพิจารณาติดตามแบบกัดไม่ปล่อยของฝ่ายค้าน นายกรัฐมนตรีจึงถูกฝ่ายค้านชำแหละว่าตั้งคนที่มีปัญหาเข้ามาเป็นรัฐมนตรีเพราะการประเมินของ CEO เขาต้องการให้ปรับ ค.ร.ม.ทั้ง 3 คน หากไม่ปรับ นายกรัฐมนตรีต้องพิจารณาตนเอง ควบคู่ไปกับม็อบบนถนนที่ต้องการให้นายกฯ ต้องออกไป การเปิดประชุมสภาเรื่องนี้รัฐบาลมีงานหนักต้องเตรียมการและเตรียมคำตอบเอาไว้ตอบโต้ เรื่องใดที่ยอมได้ควรยอมไปเพื่อลดแรงกดดันให้รัฐบาลอยู่รอดไว้ก่อน เพราะชีวิตประชาชนอยู่บนความรับผิดชอบของรัฐบาลชุดนี้จึงไม่ควรเปลี่ยนม้ากลางศึก