เสือตัวที่ 6 สถานการณ์ความรุนแรงในสหภาพเมียนมา ได้ทวีความรุนแรงบานปลายจนอาจจะเกิดภาวะรัฐล้มเหลว ด้วยการเกิดสงครามกลางเมือง แม้จะเป็นเหตุความรุนแรงทางการเมืองที่อยู่นอกเขตประเทศไทย หากแต่ที่คนไทยและผู้นำรัฐบาลไทยจะต้องให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษก็เพราะประเทศนี้มีอาณาเขตชิดติดกับดินแดนไทยทั้งทางพื้นดินและทางน้ำ ตลอดจนชายฝั่งทะเล เหตุความรุนแรงด้วยการก่อการประท้วงของประชาชนชาวเมียนมาที่มีต่อคณะรัฐประหารโดยกองทัพและบานปลายไปถึงการลุกหือขึ้นต่อต้านด้วยอาวุธของชนกลุ่มน้อยหลากหลายชาติพันธุ์ที่อยู่ในดินแดนแห่งนี้ นั่นคือผลกระทบที่จะมาสู่ดินแดนไทยและทุกระบบของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การอพยพหนีตายและการเคลื่อนย้ายประชากรในดินแดนแห่งนี้ ย่อมเกิดขึ้นในเวลานี้และในอนาคตอันใกล้ และนั่น จะนำมาซึ่งความไม่มั่นคงของคนไทยในทุกมิติ ทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินคนไทย ระบบเศรษฐกิจที่มีผลกระทบแน่นอน ตลอดจนโรคร้ายที่ติดมากับผู้คนที่อพยพหลบหนีมาจากดินแดนมิคสัญญี ยุคที่ผู้คนเข่นฆ่ากันอย่างป่าเถื่อน ณ ดินแดนแห่งนี้อย่างแน่นอน ในขณะที่นานาชาติต่างแสดงความห่วงใยในสถานการณ์อันเลวร้ายในเมียนมา อาทิ บรูไนในฐานะประธานอาเซียน ได้ออกแถลงการณ์ในนามประธานอาเซียนความตอนหนึ่งว่า "เราเป็นห่วงถึงสถานการณ์ภายในเมียนมา อยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งการใช้ความรุนแรง ต่างฝ่ายต่างผ่อนปรน และร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างสันติ ผ่านการเจรจาอย่างมีหลักการ" และนอกจากนั้น ยังมีสมาชิกอย่างน้อย 4 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารภายในเมียนมา และให้ความเห็นกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ โดยเฉพาะ นายทีโอโดโร ล็อกซิน จูเนียร์ รมว.ต่างประเทศของฟิลิปปินส์ ถึงกับกล่าวว่า หลักการของอาเซียนที่ว่า "ไม่แทรกแซงกิจการภายในของสมาชิก" นั้น ไม่สามารถใช้เป็น "ข้ออ้าง" หรือ "เงื่อนไข" ในการกระทำผิดกฎหมายของกองทัพเมียนมาอย่างที่พยายามสื่อสารให้เข้าใจกันอย่างนั้น ต่อมาวันที่ 11 มี.ค. ไทยจึงได้ออกแถลงการณ์ ย้ำท่าทีที่ชัดเจนขึ้นต่อสถานการณ์ในเมียนมา โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์แสดงท่าทีของไทยต่อสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในเมียนมา โดยเรียกร้องให้ทางการเมียนมาปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวหลังการรัฐประหาร 1 ก.พ พร้อมกับแสดงความ "เสียใจ" ต่อการเสียชีวิตในเหตุรุนแรง ผ่านแถลงการณ์ตามแนวทางของประธานอาเซียน โดยเรียกร้องให้มีการคลี่คลายสถานการณ์ การปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัว รวมทั้งของกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางออกร่วมกันโดยสันติวิธี จนกระทั่งเมื่อ 30 มี.ค. นายดอนเปิดเผยว่า ได้ประสานไปยังบรูไนในฐานะประธานอาเซียน ให้มีการจัดประชุมอาเซียน โดยประเด็นหลักคือแสวงหาหนทางที่จะทำให้เกิดสันติสุขในเมียนมา สู่ประชาชนเมียนมา และให้อาเซียนกลับมาเป็นภูมิภาคที่สงบดั้งเดิม ในขณะที่ทาทีของกองทัพไทยกลับมีต่อวันกองทัพเมียนมา เมื่อ 27 มี.ค. โดยไทยเป็น 1 ใน 8 ชาติที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมงานทั้งช่วงเช้าในพิธีสวนสนามแสดงแสนยานุภาพ และงานกาลาดินเนอร์ในช่วงค่ำ โดย 7 ประเทศที่มีการส่งเจ้าหน้าที่ทหารเป็นตัวแทนเข้าร่วมงานวันกองทัพเมียนมาดังกล่าว ได้แก่ จีน อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เวียดนาม ลาว และไทย ส่วนอีก 1 ประเทศคือรัสเซีย ได้ส่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเข้าร่วมงาน ซึ่งสวนทางกับท่าทีของ 12 ชาติมหาอำนาจที่ร่วมกันออกแถลงการณ์รัฐมนตรีกลาโหม 12 ประเทศ เมื่อ 28 มี.ค. ประกอบด้วย ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, เดนมาร์ก, เยอรมนี, กรีซ, อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ได้ประณามกองทัพเมียนมา ความตอนหนึ่งว่า "กองทัพที่มีความเป็นมืออาชีพ ย่อมต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากล และมีความรับรับผิดชอบในการปกป้อง ไม่ใช่ทำร้ายประชาชนที่พวกเขาปกป้องดูแลเสียเอง" แม้ว่าการส่งเจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพไทยเข้าร่วมในวันกองทัพเมียนมาดังกล่าว จะได้รับคำอธิบายจากผู้นำระดับสูงของไทยว่า ไม่ได้เป็นการให้การยอมรับการรัฐประหารและการเข่นฆ่าประชาชนในชาติก็ตาม หากแต่การกระทำดังกล่าว ย่อมสะท้อนถึงวิธีคิดที่แสดงออกมาจากท่าทีดังกล่าวที่ทำให้ชาติมหาอำนาจอื่นๆ รวมทั้งเพื่อนสมาชิกในอาเซียน ที่มีความไม่สบายใจและอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศไทยในมิติอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา สถานการณ์ความรุนแรงได้ทวีความรุนแรง ความยุ่งเหยิงได้ขยายตัวมากขึ้นในเมืองสำคัญ ๆ และมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ที่ถูกควบคุมตัวจำนวนมาก รวมทั้งนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม เช่น นางออง ซาน ซูจี และบุคคลในรัฐบาลก่อนหลายคน นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และมีรายงานระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 500 คนแล้ว เหล่านี้คือการสูญเสียของคนในชาติที่แม้จะมาจากหลากหลายเผ่าพันธุ์ หากแต่ทุกศาสนาก็สอนว่า ทุกชีวิตล้วนเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมแผ่นดินเดียวกันที่ไม่ควรถูกตัดสินให้มีชีวิตอยู่ต่อไปหรือต้องหมดชีวิตลง ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายใดก็ตาม โดยเฉพาะด้วยเพราะความเห็นต่างทางการเมือง การแสดงออกของเพื่อนร่วมชาติที่บ่งบอกถึงความเห็นต่างจากผู้ปกครองหรือต่างจากเพื่อนร่วมชาติกลุ่มอื่นใดนั้น ล้วนเป็นความสวยงามของการอยู่ร่วมกันในยุคอารยะที่เจริญแล้ว การยอมรับฟัง ร่วมคิด ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นซึ่งกันและกัน จะช่วยลดความรุนแรงจนอาจขยายตัวถึงขั้นนองเลือดได้ การเคารพความเห็น ความคิดซึ่งกันและกัน แม้จะเป็นความเห็นที่แตกต่างกัน จะนำมาซึ่งแนวทางแก้ปัญหาในวิธีที่เรียกกันว่า สันติวิธี เพื่อลดโอกาสการใช้ความรุนแรงระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุด การหลั่งเลือดหรือการกดขี่ทั้งหลายจะยิ่งเพิ่มความเกลียดชังและถอยห่างออกจากสันติภาพและความสงบสุขของคนในชาติ ซึ่งนั่น ล้วนมีที่มาจากวิธีคิด ที่เป็นต้นทางสำคัญในการมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไรระหว่างผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครอง อันจะนำมาซึ่งทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในรูปแบบใด วิธีคิดที่เป็นอารยะในการแสวงหาทางออกของการอยู่ร่วมกันของคนในชาติเหล่านั้น คือการมองคนเห็นต่างอย่างมิตรภาพให้ได้อย่างแท้จริง มองคนเห็นต่างอย่างมิตรร่วมแผ่นดินเท่านั้น จึงจะพบทางออกของปัญหาความเห็นต่าง ความแตกแยกของคนในชาติไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ศาสนาใด และนำพาความสงบร่มเย็น นำเพื่อนร่วมชาติไปสู่ความวัฒนาถาวรในทุกๆ ด้านในที่สุด ในทางตรงข้าม หากผู้ปกครองไม่ว่าจะเป็นรัฐชาติใด มองกลุ่มคนร่วมชาติอย่างอคติ เป็นศัตรูของแผ่นดินที่ต้องถูกกำจัดให้สิ้นซากในทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะด้วยกำลังอาวุธ หรืออำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่ในมือ ความหายนะของทุกชีวิตร่วมชาตินั้นๆ ก็จะมาถึงในเวลาไม่นานนัก