ดร.วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 4 รัฐมนตรีใหม่แล้ว คงดูหน้าดูตาแล้ว จะพอทำงานไปไหวไหม จึงน่าเป็นห่วงกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงดีอี เกรงว่าจะมัวเกรงใจข้าราชการภายในต่างชงข้อมูลที่ปิดๆบังๆไว้ให้เป็นปัญหาต่อไป
พร้อมๆกันนั้นรัฐบาลยังคงเดินหน้า พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 2 เดือน จนถึงสิ้น พ.ค.64 เพื่อให้วัคซีนมาให้ทันฉีดให้กับประชาชนส่วนใหญ่ แต่ที่ต้องทำงานกันต่อไป คือ การเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต 4% อย่างช้าๆ
ดูจากสำนักต่างประเทศ เช่น มูดี้ส์ ฟิตส์ เรตติ้งและสแตนดาร์ดแอนด์พัวรส์ ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยอยู่ที่ BBB+ และบูมเบอร์กยังยกให้ไทยเป็น 1 ใน 17 ประเทศของกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่น่าลงทุนมากที่สุดในโลก ทำให้รัฐบาลเกิดความเชื่อมั่นที่จะใช้มาตรการเยียวยาเพื่อการบริโภคของคนในประเทศต่อไป
1.ปัจจัยกระตุ้น คือ มาตรการเยียวยาและฟื้นฟู เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่ง เราชนะ ม33 เรารักกัน เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และ เราผูกพัน สำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อยอีก 1 ล้านคน ซึ่งเป็นการกระตุ้นการซื้อของคนในประเทศให้ GDP ไม่ลดลงมาก ซึ่งเป็นโครงการเยียวยา ซึ่งมิใช่โครงการยั่งยืนในอนาคต
2.วิจัยและพัฒนาวัคซีน เพื่อผลิตภายในประเทศได้เอง
3.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องไปอีก อาทิเช่น เชื่อมต่อ การคมนาคม ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน อีอีซี เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 5 จี การตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ และสร้างธุรกิจใหม่ เช่น อี-คอมเมิร์ส การพัฒนาหุ่นยนต์
4. สนับสนุนลงทุนใน 4 อุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เทคโนโลยีการแพทย์ และการดูแลสุขภาพ ดิจิทัล
5.ขยายอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG
6.เปิดประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวเป็นระยะๆ
โดยมาตรการเยียวยาโควิด-19 ใช้เงินไปถึง 861,335 ล้านบาท ซึ่งเงินยังไม่หมด จึงทำโครงการต่อได้อีก สำหรับสินเชื่อฟื้นฟู SMEs 250,000 ล้านบาท กับโกดังพักหนี้อีก 100,000 ล้านบาท ได้อนุมัติแล้ว จะมีคนมาใช้มากน้อยเพียงใด เพราะดอกเบี้ยค่อนข้างสูง
จึงพอจะมองออกว่ามาตรการเยียวยาจะรักษาความยั่งยืนไปได้สักกี่ปี เมื่อเงินหมดจะทำอะไรต่ออีก น่าจะใช้มาตรการอื่นๆที่โลกกำลังเปลี่ยน เช่น คนสูงอายุมากขึ้น การพัฒนาการส่งออก ต้นทุนเกษตรที่สูง ภาวะโลกร้อน และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เราจะหามาตรการใดที่จะยั่งยืนมาดันให้เศรษฐกิจเราเติบโตได้ 4% อย่างรวดเร็ว
ประเทศไทยจะรอให้เงินหมดแล้วจึงคิดทำคงไม่ได้อีกแล้ว คงต้องคิดตั้งแต่ช่วงนี้ แล้วค่อยๆบุกเบิกไปเรื่อยๆ เพราะมาตรการเยียวยาน่าจะหมดไปในสิ้นปี 64 เราจะหามาตรการอะไรมาช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ
การพัฒนาคนเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้เกิดแนวคิดในการสร้างสตาร์ตอัพใหม่ ด้วยนวัตกรรมแนวใหม่ เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการคงอยู่เฉยๆ ทำงานไปวันๆนึงไม่ได้อีกต่อไป ต้องคิดเชิงรุก ลุยกัยทุกปัญหาที่มีให้ลดน้อยลง โดยเฉพาะอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากโควิด-19
อย่าลืมว่าหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีมากขึ้น ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถครอบงำธุรกิจรายย่อยจนไม่สามารถขยายต่อได้ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของประเทศที่จะทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยต้องปรับเปลี่ยนกันใหม่ นั่นเป็นงานหนักของรัฐบาลที่ต้องพิจารณาปรับแก้เสียแต่ช่วงนี้