ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
หากย้อนหลังกลับไปเมื่อ 13 ปีก่อน ก่อนที่สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะปะทุขึ้น ตอนนั้นข้าพเจ้ากำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในตัวเมืองนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดภูมิลำเนาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายังจำได้ดีว่า ที่แห่งนี้ ที่ที่ซึ่งเรียกว่า “ปลายด้ามขวาน” มันน่าอยู่กว่านี้ การท่องเที่ยวก็ดูจะเป็นที่นิยมของผู้คนมากกว่านี้ เศรษฐกิจก็อุ้มชูคนที่นี่ได้มากกว่านี้ อะไรๆ ก็น่าหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของที่นี่มากกว่านี้ และที่อดคิดไม่ได้ก็คือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นี่ก็ดีกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กและเยาวชน” ที่นี่มันก็ดูจะมีมากกว่านี้
วันนี้, วันที่ข้าพเจ้ายังอยู่ในช่วงวัยที่เรียกว่า “เยาวชน” และยังอยู่ในสถานะของผู้รับชะตากรรมจาก “เหตุการณ์ความรุนแรง” ที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้กว่า 1 ทศวรรษ
แล้ว แม้นว่าข้าพเจ้าและเยาวชนในพื้นที่อีกหลายๆ คนอาจจะไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงซะทีเดียว แต่โดยลักษณะของปรากฏการณ์โดยอ้อมแล้ว ก็ถือได้ว่าเด็กและเยาวชน และคนในพื้นที่ทุกคน คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และแน่นอน !! ในงานเขียนหรือบทความชิ้นนี้ ข้าพเจ้าคงจะขอกล่าวถึงผลกระทบในเรื่องของ “สิทธิของเด็กและเยาวชน” ในพื้นที่
ข้าพเจ้าเองเป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนมาโดยตลอด จนได้มีโอกาสเป็นผู้นำการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่มาเป็นเวลาก็เกือบ 10 ปีแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่า “เด็กและเยาวชน” เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญยิ่งต่อสังคมและประเทศชาติ เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาบ้านเกิด สังคม ตลอดจนชาติบ้านเมือง ให้เจริญก้าวหน้าและมั่นคง เด็กจึงสมควรที่จะมีสิทธิเสรีภาพในทุกๆ ด้านอย่างแท้จริง และควรที่จะได้รับการพัฒนาให้เต็มศักยภาพในทุกด้านเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพื่อให้เด็กรู้จักสิทธิ หน้าที่ มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น สามารถปฏิบัติตนให้เป็นพลเมืองที่ดีอยู่ในสังคมได้อย่างสันติสุข การส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนในทุกมิติ จึงควรได้รับการให้ความสำคัญและการส่งเสริมจากสังคมและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอย่างที่สุด ไม่เพียงแต่เฉพาะการให้ความสำคัญด้านการศึกษา และการปกป้องคุ้มครองให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี การสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ทางสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายความรวมถึงการให้เด็กได้รับสิทธิเสรีภาพต่างๆ ที่พึงจะได้รับ และเข้าใจในหน้าที่ของตนอีกด้วย
แต่เป็นที่น่าสลดใจยิ่งนัก ตลอดระยะเวลากว่า 13 ปีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ข้าพเจ้าโลดแล่นบนเส้นทางนักกิจกรรมด้านเด็กและเยาวชน ข้าพเจ้าเห็น “การละเมิดสิทธิต่อเด็กและเยาวชน” ในหลายๆ ครั้ง หลายๆ โอกาส เป็นจำนวนมากมายซะเหลือเกิน ทั้งที่เกิดจากผู้ปกครองบ้านเมืองตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับที่ใหญ่กว่านั้น และที่เกิดจากตัวพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กและเยาวชนเหล่านั้นเสียเอง ซึ่งในที่นี้หากจะกล่าวถึงสิทธิเด็กทั้ง 4 ประการตามปฏิญญาสากลหรืออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ได้กำหนดสิทธิพื้นฐานที่เด็กจะต้องได้รับนั่นก็คือ 1) สิทธิที่จะมีชีวิตรอด 2) สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา 3) สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง 4) สิทธิในการมีส่วนร่วม ซึ่งประเทศไทยเองก็ให้การยอมรับตามอนุสัญญาฉบับนี้แล้วนั้น อาจจะถือได้ว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเหตุรุนแรงอยู่ในขณะนี้นั้น ประสบความล้มเหลวเป็นอย่างมากเลยก็ว่าได้ในการมอบสิทธิทั้ง 4 ประการนี้ให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ที่ข้าพเจ้ากล้าพูดเช่นนี้ก็เพราะว่าเรายังคงเห็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพต่อเด็กและเยาวชนอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการก่อเหตุความรุนแรงที่กระทำต่อเด็ก การไม่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่เด็ก การไม่จัดการศึกษาที่ดีแก่เด็ก การไม่สามารถปกป้องคุ้มครองให้เด็กพ้นจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ และอีกนานัปการ
ข้าพเจ้าเองมีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านชนบทๆ หมู่บ้านหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งข้าพเจ้ารับรู้ถึงปัญหาและความเป็นไปของเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านหรือชุมชนใกล้เคียงที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่เป็นอย่างดี บ่อยครั้งที่เรื่องราวของเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านสร้างความหดหู่กับข้าพเจ้าไม่น้อยเลยทีเดียว ข้าพเจ้าเห็นเด็ก ป.5 ขโมยเงินคนงาน (พม่า) ที่ก่อสร้างโรงเรียน ข้าพเจ้าเห็นเด็ก ป.6 ขโมยไก่บ้านของชาวบ้านไปขาย ข้าพเจ้าเห็นเด็ก ม.2 ท้องก่อนแต่ง, ข้าพเจ้าเห็นเด็กจบ ป.6 แล้วผู้ปกครองไม่ส่งให้เรียนต่อ, ข้าพเจ้าเห็นผู้ใหญ่ขายยาเสพติดให้กับเด็ก, ข้าพเจ้าเห็นเด็กและเยาวชนดื่มน้ำกระท่อมติดยาเสพติด, ข้าพเจ้าเห็นผู้ปกครองปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นบุตรหลานของตัวเอง, ข้าพเจ้าเห็นผู้นำชุมชนไม่ฟังเสียงของเด็กและเยาวชน, ข้าพเจ้าเห็นเด็กเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ, และข้าพเจ้าเห็นความพินาศที่สังคมกระทำต่ออนาคตของชาติ
เหล่านี้ถามว่าสิทธิที่เด็กจะมีชีวิตรอดอย่างที่ควรจะมีชีวิตอยู่ สิทธิที่เด็กจะได้รับการพัฒนาให้เป็นคนดีมีคุณธรรม สิทธิที่เด็กจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากอบายมุขต่างๆ และสิทธิที่เด็กจะได้รับการมีส่วนร่วมในโอกาสต่างๆ อยู่ตรงไหนกัน?
ข้าพเจ้าจึงกล้าพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ผู้ใหญ่ต่างยอมรับว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แต่ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็มีส่วนในการทำลายอนาคตของชาติเสียเอง” และบ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าและก็เชื่อว่าท่านทั้งหลายได้เคยเห็นข่าวการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชนซึ่งมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่แห่งนี้ อาทิ การตรวจค้นหอพักนักศึกษา การปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดต่างๆ การไม่จัดให้มีการคุ้มครองเด็ก การลอบยิงเด็ก หรือการวางระเบิดในเขตโรงเรียน เป็นต้น และข้าพเจ้าก็คิดว่าท่านทั้งหลายคงจะไม่ปฏิเสธว่า นี่คือการลิดรอนสิทธิของเด็กและเยาวชนที่มาพร้อมกับสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้
ข้อความข้างต้นที่ผู้เขียนขออนุญาตหยิบยกมานำเสนอ คือส่วนหนึ่งของงานเขียนชื่อ “เราจะก้าวสู่ 4.0 ได้อย่างไร หากสิทธิและเสรีภาพของเด็กและเยาวชนยังอยู่ 0.4” ของ นายอับดุลปาตะ ยูโซะ น้องจากค่ายเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจเคารพสิทธิในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รุ่นที่ 5 ซึ่งได้รางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดผลงานศิลปะ “ศิลป์สื่อสิทธิ์ 4.0 : การเคารพสิทธิผู้อื่น” ในสาขางานเขียน โดยการแข่งขันครั้งนี้แบ่งเป็น 4 สาขา ได้แก่ งานเขียน งานภาพถ่าย งานภาพวาด และงานหนังสั้น/สารคดี ในโครงการระบบสื่อสารออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกล เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเฉลิมฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ดำเนินงานโดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
งานเขียนชิ้นนี้ ยังไม่จบ และเรื่องเล่าเบื้องหลังการดำเนินโครงการฯ ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย ไว้คราวหน้ามาว่ากันต่อในรายละเอียดถึงที่มาที่ไปของเวทีกิจกรรมที่น่าสนใจครั้งนี้ ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและสามารถสะท้อนเรื่องเล่าเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ในหลากหลายมิติ