สถาพร ศรีสัจจัง
แม้อาจจะกล่าวได้ว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง” ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำกับประเทศสหราชอาณาจักรหรือประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2398 เป็น “ภาพรูปธรรม” ของการเปิดประเทศให้ระบบ “การค้าเสรี” และระบบ “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” เริ่มมีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในประเทศสยาม
แต่การเปิดประเทศครั้งนั้นก็กระทำไปอย่างมี “กุศโลบาย” ทั้งเพื่อความเจริญก้าวหน้า (ในบางด้าน) และเพื่อ “ความอยู่รอด” (จากนโยบาย “เรือปืน” ของจักรวรรดินิยม) ของชาติ !
ไม่ใช่การเปิดประเทศอย่าง “ล่อนจ้อน” เหมือนเมื่อครั้งเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารแล้วเชื้อเชิญ “ผู้เชี่ยวชาญ” จากประเทศ “มหามิตร” (ชื่อเรียกขานในสมัยต่อมา) คือสหรัฐอเมริกามาวางแผนทำสิ่งที่เรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” มอบให้(เดินตาม)ในช่วงต้นทศวรรษ 2500
ตอนนั้นใช้ชื่อ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” เฉยๆ ยังไม่มีคำว่า “สังคม” รวมอยู่ด้วย คำ “สังคม” เพิ่งมาเติมเข้าไปตอนหลัง
ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้คิดวางแผนนี้แต่ต้น ตั้งใจและคำนึงถึงแต่เรื่อง “เศรษฐกิจ” เป็นสำคัญ ส่วนผลทางสังคมของแผนที่ตามมา จะทำให้ “สังคม” ไทยเละเทะเน่าเฟะหรือล่มสลายอย่างไร พวกเขาไม่ได้มีความสนใจแต่อย่างใด!
หรือภาพความฟอนเฟะของสังคมไทยที่เห็นเชิงประจักษ์ตาประจักษ์ใจอยู่ในวันนี้จะไม่เป็นเช่นนั้นจริงๆ?
หลักฐานที่ยืนยันชัดเจนถึงเจตนา “จะเอาแต่ทางโลกไม่เอาทางธรรม” นี้ ปรากฏชัด เมื่อผู้มี “อำนาจ” รัฐครั้งกระนั้น มีความเห็น (ด้วยสติและปัญญาที่ตื้นเขินเพราะ “มิจฉาทิฐิ”) ว่าคตินิยมทางสังคมของคนไทยในห้วงยามนั้น ที่(เขา)เชื่อว่า เกิดจากคำสอนตามหลักพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นหลายประการ เป็นตัวขัดขวาง “การพัฒนา” ที่จะนำประเทศไปสู่ “ความเจริญ” หรือความทันสมัย (Modernization)
คือความทันสมัยแบบที่ชาติตะวันตก โดยเฉพาะแบบที่ “อเมริกัน” ต้องการและกำลังเดินไปสู่ คือสังคมที่เจริญแต่ทางวัตถุ เพราะเชื่อว่าการกระตุ้นให้คนเกิดกิเลสในการบริโภคทางวัตถุแบบไม่มีที่สิ้นสุดหรือแบบไม่รู้จักพอเพียง เป็น “กระบวนการ” ที่จะทำให้สังคม “ก้าวหน้า” ทันสมัย และผู้คนในสังคมก็จะมีความสุขกันอย่างถ้วนหน้า!
จึงฟังว่า ผู้นำประเทศ (อาณาจักร) ในครั้งนั้น คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงขนาดลงมือทำจดหมายลับถึงผู้นำทาง “ศาสนจักร” คือมหาเถรสมาคม ขอให้ห้ามพระสงฆ์เทศนาพระธรรมคำสอนขอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่อง “ความสมถะ”เพราะจะทำให้คนไทยความเฉื่อยเนือย ไม่กระตือรือร้นในการทำงานเพื่อสั่งสมโภคทรัพย์ ในการที่จะ “พัฒนา"ตัวเองและสังคม
ถ้าพูดภาษายุคปัจจุบันก็ต้องบอกว่า ทำไมถึงช่างคิดได้ “ซื่อบื้อ” ขนาดนั้น!
แล้วภาพสังคมไทยที่ประจักษ์ตาประจักษ์ใจผู้คนที่มี “สัมมาทิฐิ” ทั้งหลายอยู่ในวันนี้ เป็นอย่างไรบ้างละ?
แข่งขันจนแตกแยกดังโพล้ะแบบปี้ป่นไม่มีทางประสานใช่ไหม? ทุนนิยมที่เริ่มก่อหน่อมาตั้งแต่ยุคล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 (เพราะพระองค์ท่านมีวิสัยทัศน์ว่าจะนำ “ด้านดี” ของระบบนั้นมาใช้อย่างรู้ทัน เพื่อให้สังคมไทยที่เป็นสังคมพุทธได้อนุวัตรไปอย่างสมสมัยแบบที่ควรเป็น) กลายเป็นทุนนิยมสามานย์ผูกขาด ก่อเกิดระบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” อย่างชัดเจน
เกิดทุพภิกภาพเข็ญทางสังคมไปทุกด้าน คนรวยกระจุกคนจนกระจาย สังคมไร้สามัคคีธรรม ศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม เชิงพุทธและลัทธิความเชื่ออื่นๆ ที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเสมือน “ราก” ของสังคมมาสยามมานับพันปีขาดสะบั้นกระจุยกระจาย
กลายเป็นสังคม “รากขาด” อย่างเห็นได้ชัดเจนในยุคนี้พ.ศ.นี้ ใครที่เคยอ่านหนังสือ “พุทธทำนาย” มาบ้าง ย่อมจะเห็นว่า ภาพที่หนังสือดังกล่าวเคยพยากรณ์ไว้ กำลังเกิดเป็นรูปธรรมให้เห็นอยู่ต่อหน้าต่อตาอย่างไร
ในยุคที่ลูกกล้าชี้หน้าด่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ว่าโง่เขลาดักดานล้าหลัง! ยุคที่ลูกฆ่าพ่อแม่เพราะฤทธิ์ยาเสพติด พ่อแม่ขายลูกกิน ฯลฯ
เอาเฉพาะเรื่อง “การแตกสามัคคี” เพียงเรื่องเดียวก็จะเห็นชัด ว่าระบบ “ทุนนิยม” ที่สอนให้มุ่งประโยชน์ตนสูงสุด ไม่สนใจความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้อื่น(ขอให้มีเงินก็จะมีทุกอย่าง!)นั้น เป็น “เหตุ” ที่สำคัญที่สุดของความล่มสลายของสังคมนี้อย่างไร?
เห็นไหมนั่น เมื่อถึงวันนี้ หนังสือวรรณคดีไทยเรื่อง “สามัคคีเภทคำฉันท์” หรือเรื่องที่ว่าด้วย “โทษของการแตกสามัคคี” ของมหากวีชาวบ้าน นายชิต บุรทัต สุดยอดกวีนิพนธ์เชิงขนบ(ที่เป็น “ราก” ทางด้าน “ความงาม” หรือ “สุนทรียะ” แบบไทยๆ) กลายเป็นหนังสือในกรุไปแล้ว(โดยกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรม?) ขณะที่เยาวชนไทยรุ่นใหม่กำลังเสพคำสอนเชิงฉ้อฉลของผู้มีอำนาจอย่างหนังสือชื่อ “The Prince” หรือ “เจ้า” ของ นายแมคเคียเวลลี กันอย่างชื่นชมยกย่องเทิดทูน!
เห็นกันแล้วหรือยังว่า อะไรคือ “เหตุ” ของปัญหาในสังคมไทยวันนี้?!!!