ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศอ.บต. จึงได้เห็นภาพรวมการขับเคลื่อนภารกิจ ซึ่งหากย้อนประวัติศาสตร์จริงๆ มีจุดกำเนิดจากแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังเสด็จเยี่ยมในพื้นที่แล้วพบว่าประชาชนไม่สามารถสื่อสารกับฝ่ายราชการได้เนื่องจากติดขัดเรื่องภาษา
ภารกิจของ ศอ.บต. ผ่านยุคสมัยต่างๆจนมาถึงยุคของ เลขาธิการฯคนปัจจุบัน มีการดำเนินงานในหลายประการและหลักในการทำงานก็พัฒนาเปลี่ยนแปลงเข้ากับยุคสมัยและความต้องการของประชาชนในพื้นที่
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ภารกิจในภาพรวมของ ศอ.บต.ได้รับความเชื่อศรัทธาจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการศึกษา ให้ได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ โดยเด็กและเยาวชนในพื้นที่นี้เมื่อจบการศึกษาระดับประถมศึกษาก็อยากจะไปศึกษาต่างประเทศโดยเฉพาะด้านศาสนา ศอ.บต.ก็ได้ส่งเสริมโดยการขอทุนจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย หรือเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะอาจเป็นเรื่องมาตรฐานการศึกษา ศอ.บต.ก็ได้จัดหาโควตาที่นั่งในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีทั้ง ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ ทั้งเอกชนและรัฐ มีการจัดหาทุนการศึกษาให้เรียนจนจบมหาวิทยาลัย ส่วนเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา ก็มีโครงการที่จะฝึกอาชีพให้รวมถึงให้ทุนประกอบอาชีพ ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นต้นแบบในการขยายผล
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ประเด็นซึ่งประชาชนศรัทธามากก็คือการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบตามความเป็นจริง ศอ.บต.ให้เงินรายละ 5 แสนบาท คนทุพลภาพนอกจากการให้ทุนแล้วก็ให้มีอาชีพ มีที่ยืนในสังคม ตลอดจนให้ทุนการศึกษาแก่ลูกหลานครอบครัวได้รับผลกระทบ
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่ดินทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี ที่มีการประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกินของชาวบ้าน ตอนนี้ได้แก้ปัญหาร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจนสามารถออกโฉนดไปแล้วสองหมื่นถึงสามหมื่นแปลง
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า เรื่องของศาสนา ศอ.บต.อุดหนุนทั้งพุทธและอิสลามเต็มที่ เช่นการกำหนดค่าตอบแทนให้คณะกรรมการอิสลามจังหวัด และคณะกรรมการเจ้าคณะจังหวัดของศาสนาพุทธ การส่งเสริมคนดีไปเมกกะ ซึ่งเลขา ศอ.บต.เดินทางไปเยี่ยมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พี่น้องมุสลิมที่ไป ชื่นชม ศอ.บต.ที่อำนวยความสะดวกในเรื่องนี้
“คนเหล่านี้เมื่อกลับมาเราจะเอาคุณค่าจากการไปฮัจญ์ เราก็จะให้เข้าชมรมฮัจน์ของ ศอ.บต. เพื่อเผยแพร่ความดีขยายผลต่อไปกับคนรุ่นลูกหลาน” นายศุภณัฐ กล่าว
เลขาฯ ศอ.บต.กล่าวว่า การแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การสร้าง อาชีพ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นชอบสนับสนุนข้อเสนอของ ศอ.บต.และสภาพัฒน์ในการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สุไหงโกลก –เบตง- หนองจิก เป็นเมืองต้นแบบในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่ในหลวง ร.9 ทรงให้ความสำคัญ
“ในหลวง ร. 9 เคยเสด็จอำเภอหนองจิกติดต่อถึง 3 ครั้ง ในหลวงตรัสว่า ที่นี้ดินดีให้เร่งส่งเสริระบบชลประทานเพื่อส่งเสริมเกษตร ก็มีการสร้างระบบชลประทานไว้ดีมาก แต่การผลิตยังไม่ดีขึ้น ในฐานะผมเป็นเลขานุการคณะกรรมการพัฒนา 3 เมืองนี้ให้เป็นต้นแบบให้ได้ ได้นำผู้บริหารบริษัทอําพลฟูดส์ เจ้าของกะทิชาวเกาะมาดู บริษัทก็บอกเขาพร้อมตั้งโรงงงานกะทิ เราก็ต้องส่งเสริมพื้นที่หนองจิกที่มีความพร้อมในการปลูก หรือโรงงานน้ำมันปาล์มที่สมุทรปราการก็พร้อมที่จะมาลงทุน และเพื่อเป็นการลดต้นทุนการขนส่งเราก็ได้อาศัยท่าเรือน้ำลึกที่ปัตตานี ผมติดต่อผู้ประกอบการจากสิงคโปร์มาดูท่าเรือนี้แล้ว สิ่งเหล่านี้จะเกิดผลดีมหาศาลในพื้นที่ การแก้ปัญหาอย่างถาวรคือต้องทำให้ชาวบ้านมีที่ยืนที่อยู่ที่ทำกิน” นายศุภณัฐ กล่าว
นายศุภณัฐ กล่าวว่า ประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 12 ล้านคน เป็นพี่น้องมุสลิม 80 เปอร์เซ็นต์ทั้งๆที่ยาเสพติดเป็นของต้องห้ามของทั้ง 2 ศาสนาแต่คนเสพก็เยอะมาก ศอ.บต.จึงเร่งความสำคัญในเรื่องนี้ มีการนำผู้เสพมาบำบัด เมื่อเลิกเสพก็พัฒนาเป็นอาสาบำบัด ฝึกอาชีพสนับสนุนงบประมาณสร้างอาชีพเพื่อให้ตั้งตัวได้ และให้เป็นบุคคลต้นแบบในการเลิกยาเสพติด
นายศุภณัฐ กล่าวว่า โครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ งบประมาณรวม 50 ล้านบาท ศอ.บต.ถือว่า องค์กรภาคประชาสังคมเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นองค์กรที่มาจากภาคประชาชน รู้ปัญหาพื้นที่อย่างแท้จริง จะเป็นกำลังหลักในการเสริมบทบาทของภาครัฐในการขับเคลื่อน เชื่อมโยงเรื่องความคิด ความเชื่อ ว่าพี่น้องที่นี่รักสันติสุขไม่ต้องการความรุนแรงและจะสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างผู้แทนรัฐบาลกับกลุ่มมาราปัตตานี
ความพยายามและการทำงานเหล่านี้รวมถึงภาคส่วนต่างๆ เป้าหมายคือ เพื่อยุติวิกฤติไฟใต้