ดร.วิชัย พยัคฆโส payackso@gmail.com ยุทธศาสตร์ 20 ปี ของสภาการศึกษา ได้รับการผลักดันออกมาเป็นแนวทางการพัฒนาการศึกษาของชาติ เพื่อสร้างทุนมนุษย์ออกมาขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 จะสำเร็จหรือไม่ คงอยู่ที่ปัจจัยหลากหลายที่ต้องนำมาสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะหากถอดบทเรียนความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษารในอดีตที่ผ่านมา น่าจะมีช่องว่างหรือจุดอ่อนที่ส่งผลมาสู่คุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเห็นได้ชัดอยู่แล้ว ดูเหมือนว่าคณะกรรมการปฏิรูปครู กำลังถอดบทเรียนเพื่อนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อสร้างครูพันธ์ใหม่ให้เกิดขึ้นก็ยังไม่ตกผลึก ฟังได้ว่ากำลังถกแถลงถึงการพัฒนาครู 4 ปี หรือ 5 ปีกันดี โดยอาจจะลดทักษะของครูจาก 10 กว่า ทักษะให้เหลือเพียง 4 ทักษะ เช่น - ทักษะวิชาการด้านการสอน - ทักษะวิชาเฉพาะทาง เช่น วิทย์ คณิต อังกฤษ ฯลฯ - ทักษะด้านทัศนคติ - ทักษะของการพัฒนาชุมชน การปรับลดทักษะให้น้อยลง ดูออกจะครอบคลุมดี เพียงแต่ต้องมีข้อย่อยของแต่ละทักษะในเชิง ลึกลงไปอีก ให้เห็นถึงการให้ครูต้องไปสอนใครในศตวรรษที่ 21 และต้องการให้นักเรียนเหล่านั้นหล่อหลอมให้ได้อะไรและเป็นอะไร เพราะโลกยุคปัจจุบันเป็นยุค 4.0 จะมาสร้างเด็กแบบ 2.0 หรือ 3.0 ได้อย่างไร ความต้องการของนักเรียนยุค 4.0 หรือในศตวรรษที่ 21 ที่โลกต้องการมีหลากหลาย - สมรรถนะด้านวิชาการ - ความคิดสร้างสรรค์ เชิงนวัตกรรม - วิเคราะห์ปัญหา/แก้ปัญหา - การสื่อสาร/มนุษยสัมพันธ์ - ความร่วมมือประสานสัมพันธ์แบบจิตสาธารณะ - การสื่อสารในเชิงเทคโนโลยี ตัวอย่างข้างต้นก็เพื่อสร้างคนดี คนเก่ง เป็นพลเมืองของโลกที่มุ่งสร้างชาติบ้านเมือง ครูเองคงต้อง เป็นครูยุค 4.0 เช่นกัน ซึ่งจะต้องมาวิเคราะห์ความต้องการของครูในยุคศตวรรษที่ 21 เช่นกัน เช่น 1. ทักษะ (skills) ทักษะความเป็นครูอาชีพ ทักษะการถ่ายทอด ทักษะการพูด ทักษะคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะเชิงเปรียบเทียบ ทักษะการวัดประเมินผลเชิงประจักษ์ 2. การบริหารจัดการ 3. ทัศนคติ 4. เป็นแหล่งทรัพยากรความรู้ 5. ทักษะด้านเทคโนโลยี วิธีคิดและวิธีการสอนให้เกิดสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นกับครู น่าจะวิเคราะห์จากเทคนิคการสอนของครูที่เขาพัฒนาจนการศึกษาเขาติดระดับโลกมาแล้ว มาประยุกต์ใช้ให้เป็นแบบไทยประยุกต์ ดังเช่น - ฟินแลนด์ เขาเน้น learning outcomes มาสร้างหลักสูตรและวิธีการสอนให้เป็น active learning โดยเฉพาะคนที่จะมาเรียนครูต้องจบระดับปริญญามาแล้ว - อเมริกา เขาเน้นเอาระบบ STEM มาใช้ เพื่อให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมถึงการแก้ปัญหาได้เอง - ในยุโรปหลายประเทศ รวมถึงสิงคโปร์ ใช้ระบบ CDIO ตั้งแต่การหาโจทย์มาออกแบบ ดำเนินการและสร้างชิ้นงาน จนเขาก้าวมาเป็นการศึกษาระดับต้นของโลก ในส่วนของการเรียน 4 ปีดี หรือ 5 ปีดี น่าจะเอาบทเรียนของการศึกษาไทยยุค 2.0 มาเป็นแนวทาง นั่นคือการสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูเพื่อสร้างครู เพียง 2 ปีได้ ปกศ. ต้น และ 4 ปี ได้ ปกศ. สูง จาก ม.6 เดิมเท่านั้น แต่ทำไมได้ครูเก่ง ครูดีมาตลอด เพราะอาจเลือกคนเก่งมาเรียน ให้ทุนการศึกษาและยกเว้นการเป็นทหาร เป็นปัจจัยเสริม จึงไม่น่าจะเกี่ยวกับเวลาเรียนสักเท่าไหร่ แต่ที่น่าสนับสนุน คือ เอาคนเก่งมาเรียนครู โดยมีปัจจัยอื่นๆ มาสนับสนุนมากกว่า เชื่อได้ว่า คณะกรรมการปฏิรูปครู ได้ผ่านการศึกษาดูงานในประเทศที่เขาพัฒนาการศึกษามาแล้วทั้งนั้น รวมถึงประสบการณ์จากการศึกษาของเรามายาวนาน หากนำเอานักเรียนและครูยุคศตวรรษที่ 21 มาวิเคราะห์ คงจะได้ช่วยตัดสินใจปฏิรูปครูในอนาคตให้เป็นรูปธรรม เป็นครูมืออาชีพที่มิใช่อาชีพครูเสียที