เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com คงไม่ใช่การดูถูกถ้าจะบอกว่า การเมืองอิตาลีสะท้อนอารมณ์อิตาเลียนที่แบบ “รักง่ายหน่ายเร็ว” ตั้งแต่ หลังสงครามโลก อิตาลีมี 66 รัฐบาล เฉลี่ยอายุแต่ละรัฐบาล 1.14 ปี ขณะนี้ รัฐบาลคอนเต ที่เสียน้ำตาเพราะโควิดก็ไปแล้ว รัฐบาลใหม่นำโดยนาย Mario Draghi ก็สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ระยะหลังนี้ อิตาลีหาคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะนักการเมือง หัวหน้าพรรคคงไม่มีบารมีพอ นายคอนเตเป็นอาจารย์กฎหมาย นายดรากี้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่จบปริญญาเอกจาก MIT ในสหรัฐ เคยทำงานที่ธนาคารโลก เคยเป็นประธานธนาคารกลางอียู 8 ปี และเคยเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติอิตาลี น่าจับตามากว่า นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงท่านนี้ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ซูเปอร์มาริโอ” ที่ช่วยอียูพ้นวิกฤติการเงิน จะนำพารัฐนาวาอิตาเลียนี้ไปได้ไกลและนานแค่ไหน เพราะการเมืองอิตาเลียไม่มีเสถียรภาพ มีพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นมาหลายพรรค ที่ได้ ส.ส.มากสุดอย่างพรรค “5 ดาว” ก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ พรรค 5 ดาว น่าสนใจ ขอให้เรียกตัวเองว่า “ขบวนการ” มากกว่า “พรรค” ที่มาแปลกและทันสมัยมาก คือ ส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) และขบวนการนี้เกิดมาจาก “อินเทอร์เน็ต” เมื่อปี 2009 ผู้ก่อตั้งเป็น “ยูทูบเบอร์” ตัวพ่อเลยทีเดียว แนวคิดโดนใจคนรุ่นใหม่ที่เสนอให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการเมืองโดยตรงผ่านอินเตอร์เน็ต ที่แสดงความเห็นหรือ “โหวต” ได้ทุกวัน ทุกเรื่อง โดยไม่ต้องผ่านสภา เพราะพรรคการเมืองแบบเดิม นักการเมืองแบบเดิมได้พิสูจน์มานานมากแล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถนำประเทศเดินหน้าได้ อย่างไรก็ดี แม้ประกาศว่า ไม่เอาขวาไม่เอาซ้าย ขออยู่ตรงกลาง ขบวนการ 5 ดาว ก็คงหนีไม่พ้นเสนอนโยบายที่สะท้อนประชานิยม (populist) ต่อต้านระบบสถาบันเดิม (anti-establishment) อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่อต้านการอพยพ ต่อต้านโลกาภิวัตน์ และไม่เอาอียู เหล่านี้เป็นแนวเดียวกับพรรคการเมืองกลางขวา จนถึงขวาจัด แต่ก็มีบางอย่างที่คล้ายกับนโยบายของฝ่ายซ้าย จึงกลายเป็นการเมืองลูกผสม ความจริง 5 ดาว เขาหมายถึง 5 นโยบายที่ “กินได้” หรือสัมผัสได้ คือ เรื่องน้ำ การขนส่งยั่งยืน การพัฒนายั่งยืน สิทธิเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขบวนการการเมืองนี้ยังให้ความสำคัญอีก 2 เรื่อง คือ การลดการเติบโต (degrowth) และการไม่ใช้ความรุนแรง (non-violence) Degrowth คำนี้มีการใช้นานแล้ว แต่ระยะหลังเริ่มมีการนำมาเป็นนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแนวคิดที่เศรษฐกิจต้องโตขึ้นทุกปีอย่างที่ส่งเสริมกันไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการวิพากษ์กระบวนทัศน์เก่า และเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ที่มาจากแนวการเมืองอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่เสนอให้ลดการผลิตการบริโภคลง เสนอ “การอยู่ดีกินดี” (well-being) แทน “จีดีพี” “ดีโกรท” จึงเน้นความเจริญของ “ชีวิต” โดยรวมมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งสหประชาชาติได้รณรงค์และพัฒนาดัชนีชี้วัดความเจริญมานานแล้ว รวมทั้งการยกตัวอย่างของภูฏานที่เน้น “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” และยกย่องแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อีกด้วย เมื่อปี 2005 นาย Beppe Grillo ผู้ก่อตั้งขบวนการ 5 ดาว สร้างเครือข่ายทางสังคมในอินเตอร์เน็ตเพื่อประชุมกันต่อเนื่องและประสานงาน ถกประเด็นต่างๆ จนขยายกลายเป็นขบวนการครอบคลุมทั้งประเทศ ในการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2018 พรรค 5 ดาว ได้ 227 ที่นั่งจาก 630 ที่ในสภาล่าง คิดเป็น 32.7% เป็นพรรคใหญ่สุด พรรคใหม่ ตั้งมาไม่ถึง 10 ปี แต่ก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ต้องไปร่วมกับพรรคอื่น แต่ก็เกิดปัญหาความข้ดแย้ง เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีกจนได้รัฐบาลใหม่วันนี้ ขบวนการ 5 ดาว เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าจะเป็นแนวโน้มของสังคมโลกก็เป็นได้ โดยเฉพาะการใช้สื่อสมัยใหม่ให้เกิดประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น ให้พลเมืองมีส่วนร่วมมากที่สุด เป็น “เทคโนยูโธเปีย” หรือ “ดิจิทัลยูโธเปีย” สังคมในอุดมคติที่ใช้เทคโนโลยี กรณีวันนี้คืออินเตอร์เน็ต ขบวนการ 5 ดาวเติบโตทางเหนือของอิตาลี โดยเฉพาะแคว้นเอมีเลีย โรมาญา ที่โดดเด่นมากเมื่อปลายปี 2019 ที่ใช้โซเชียลมีเดียระดมคนไปอัดแน่นเป็นปลากระป๋อง จนเรียกว่า ขบวนการซาร์ดีน เพื่อต่อต้านพรรคขวาจัด (Lega) ไม่ให้ชนะการเลือกตั้งในแคว้นนี้ ที่มีเมืองโบโลญาเป็นเมืองหลวง ผู้คนเป็นแสนๆ ออกไปตามกระแสสมาร์ทโฟนในเมืองต่างๆ ทั่วอิตาลี ผลการเลือกตั้งพรรคขวาจัดก็แพ้ (ด้วยพลังปลากระป๋อง) ขบวนการ 5 ดาว เลือกหัวหน้า กรรมการ ผู้แทนลงสมัครเลือกตั้งไม่ว่าระดับท้องถิ่นถึงอียู ก็ใช้ออนไลน์ ลงคะแนน แสดงความคิดเห็น เสนอประเด็น และเสนอว่า ให้ทำเช่นเดียวกันกับการเมืองโดยรวม ไม่ใช่แต่เพียงในพรรคนี้เท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกพรรคจะเห็นด้วย อุดมคติกับความเป็นจริงบางทีก็ไม่ไปด้วยกัน ปัญหาคนกับปัญหาระบบไปด้วยกันไม่ว่าประเทศไหน วันนี้ขบวนการ 5 ดาวก็มีปัญหาแตกแยกภายใน อดีตหัวหน้าที่เคยใช้บล็อกของตัวเองเป็น “หนังสือพิมพ์” ของ “พรรค” ก็ยกเลิก พรรคก็คงต้องผ่านความขัดแย้งและปัญหาอีกมากเพื่อจะได้เติบโต คงต้องกลับไปปรึกษา “คุณพ่อ” อย่างอันโตนิโอ กรัมชี เรื่อง “อำนาจนำ” (hegemony) ที่ยังครอบงำทั้งในสังคมและในขบวนการนี้ที่ดูเหมือนว่ายังหา “ปัญญาชนคนใน” (organic intellectual) ที่โดดเด่นไม่ดีพอ และไม่มากพอเพื่อขับเคลื่อนขบวนการและบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าในพม่าหรือในไทย อินเตอร์เน็ต โซเชียลมีเดียมีความสำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยากมีส่วนร่วมและอยากเห็นบ้านเมืองหลุดพ้นจากสังคมอำนาจ คงต้องดูการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์นี้ว่า คนมีปืนมีเงิน กับขบวนการประชาธิไตยสายตรงใครจะสร้างสังคมที่คนกินดีอยู่ดีและมีเสรีภาพได้ในท้ายที่สุด หรือต้องทนอยู่ใต้อำนาจเผด็จการไปอีกนาน