ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] ได้มีโอกาสไปร่วมชี้แจงงบประมาณและรับฟังข้อเสนอแนะที่ดีๆ ทันสมัยของกรรมาธิการงบประมาณมา 2-3 ปีแล้ว ความคิดที่ทันสมัยในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินยังไม่สามารถพัฒนาไปสะท้อนหรือรองรับกับยุทธศาสตร์หรือประเทศไทย 4.0 วิธีคิดการจัดสรรงบประมาณก็ยังเดิมๆกันอยู่ แม้ว่ารัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณไปสู่พันธกิจของหน่วยงาน (Function) วาระแห่งชาติหรือยุทธศาสตร์ชาติ (Agenda) และกลุ่มจังหวัด (Area) รวมถึงให้โครงการและงบประมาณสามารถบูรณาการกันทั้งระดับกระทรวง และระดับจังหวัดแล้วก็ตาม ดูเหมือนว่าการจัดสรรงบประมาณก็ยังเน้นในระบบ ceiling ที่ต้องเพิ่มและต้องลดลงจากเดิมร้อยละเท่าใดกันอยู่ ยกเว้นโครงการของรัฐบาลใหญ่ๆที่ต้องจัดสรรเป็นพิเศษให้เท่านั้น กรรมาธิการงบประมาณในฐานะรัฐบาล ซึ่งในอดีตเป็นนักการเมืองที่สามารถกำหนดแนวนโยบายให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ เหมือนรัฐบาลที่ใช้นวัตกรรมมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะกรรมาธิการล้วนแล้วแต่เคยเป็นผู้ของบประมาณและใช้งบประมาณที่มีข้อจำกัดจนไม่สามารถจะไปพัฒนายุทธศาสตร์ให้เป็นชิ้นเป็นอันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล กรรมาธิการได้เสนอแนะและให้ข้อคิดกับสำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ กรมบัญชีกลาง รวมถึงหน่วยงานต้นสังกัดของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในสาระสำคัญควรได้ปฏิรูปสร้างนวัตกรรมในเชิงระบบและโครงสร้างการใช้งบประมาณ และการประเมินความคุ้มค่าของงบประมาณแผ่นดินเสียใหม่ นั่นคือ 1. จัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์และความโดดเด่น เข้มแข็งในศักยภาพของหน่วยงาน 2. มีระบบวัดผลและประเมินผลตามยุทธศาสตร์ มิใช่วัดและประเมินผลด้วยผลผลิตเชิงปริมาณ และผลผลิตเชิงคุณภาพเป็นตัวชี้วัดเหมือนกันหมด มิได้แสดงความโดดเด่นของศักยภาพแต่ละหน่วยงาน ทั้ง 2 ประเด็น กรรมาธิการเสนอแนะมา 2-3 ปี ก็ยังมีรูปแบบของแบบฟอร์มให้หน่วยงานกรอกมาเหมือนเดิม ซึ่งคงจะมาต่อว่าหน่วยงานไม่ได้ เพราะหน่วยงานประสงค์จะให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในเชิงยุทธศาสตร์มานานแล้ว แต่ก็ยังจมปลักอยู่ในระบบ ceiling เหมือนเดิม โดยเฉพาะกระทรวงและหน่วยงานสร้างคนต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ยกตัวอย่างสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ทั้งมหาวิทยาลัยวิจัย มหาวิทยาลัยวิชาการ มหาวิทยาลัยเฉพาะทาง และมหาวิทยาลัยชุมชน ในจำนวนนี้มีทั้งมหาวิทยาลัยเก่าแก่ มหาวิทยาลัยใหม่ และมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก หากใช้วิธีการจัดสรรงบประมาณแบบ ceiling มหาวิทยาลัยใหม่และมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ไม่มีโอกาสจะพัฒนาตนเอง เพื่อใช้ศักยภาพพัฒนากำลังคนไปรองรับยุทธศาสตร์ได้ เมื่อรัฐบาลมองเห็นปัญหานี้แล้ว ก็ยังคงปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไป การสร้างทุนมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ตามยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงแผนการศึกษาแห่งชาติจะบรรลุผลสำเร็จได้อย่างไร แผนทั้งหลายจึงเป็นเพียงกระดาษที่มิได้นำไปสู่ภาคปฏิบัติ เพราะต้องมีปัจจัยแวดล้อมมาสนับสนุน จริงอยู่งบประมาณมิใช่เป็นปัจจัยเดียวที่จะส่งผลให้เกิดคุณภาพทางการศึกษา มหาวิทยาลัยในระดับอุดมศึกษาก็ต้องปรับตัวเองที่จะต้องทบทวนภารกิจ (Reprofiling) และทบทวนสถานภาพ (Re-Positioning) ในอีก 20 ปี ข้างหน้า เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยต้องเอา Agenda ของชาติมาวางเป็นโจทย์ สร้างทรัพยากรเพื่อผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพตามยุทธศาสตร์ไปรองรับกับเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตามบริบทโลก เห็นด้วยและขอสนับสนุนวิธีคิดและข้อเสนอแนะของกรรมาธิการงบประมาณที่ได้ปลุกกระแสให้เดินนวัตกรรมในการบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดินเสียใหม่ เพราะงบประมาณแผ่นดินเป็นภาษีอากรของประชาชน หากจะปฏิรูปให้เป็นประโยชน์ต่อชาติและประชาชนจริงๆ ไม่มีใครปฏิเสธหรอกครับ