รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความเห็นผ่านสื่อมวลชนจะให้โรงเรียนปลอดเหล้าบุหรี่ร้อยเปอร์เซนต์ ไม่แน่ใจว่าเป็น “คำสั่ง” หรือเปล่า ถ้าเป็นคำสั่งก็ต้องออกเป็นหนังสือราชการ... กฏหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ใดบ้างนั้น มีอยู่แล้ว ในทางปฏิบัตินั้น ครูและอาคันตุกะที่ไปเยือนโรงเรียน ถ้าสูบบุหรี่ก็ทำกันอย่างไม่ประเจิดประเจ้ออยู่แล้ว กฏหมายมันห้ามอะไรไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์หรอก ! จะไม่ห้ามก็มีปัญหา แต่บางเรื่องนั้นห้ามกันเคร่งเกินไป ก็เกิดปัญหามากกว่าไม่ห้ามเสียอีก ลองนึกถึงหนังอาชญากรรมยุคแก๊งแอลคาโปนในสหรัฐอเมริกาดูเถิด สมัยนั้นรัฐบาลอเมริกาสั่งห้ามดื่มเหล้าเข้มงวดเกินไป จึงเกิดขบวนการค้าเหล้าเถื่อนใหญ่โต ก่อปัญหาสังคมรุนแรงมากกว่าเดิมเสียอีก ทำอะไรอย่างตึงเกินไป.... อยากให้โรงเรียนในอนาคตปลอดเหล้าบุหรี่ร้อยเปอร์เซนต์ กระทรวงศึกษาฯก็ออกเป็นกฏหมายเสียเลยว่า ไม่รับคนกินเหล้าสูบบุหรี่เข้าเป็นข้าราชการครู แต่การที่ปัจจุบันจะให้นักเรียนคอยสอดส่อง เห้นครูคนไหนกินเหล้าสูบบุหรี่ในโรงเรียนให้แจ้งกระทรวงฯ ลงโทษ อย่างนี้คงทำให้การบริหารโรงเรียน “ยุ่ง” อย่างที่ไม่ควรจะยุ่งเป็น แน่ คุณครูท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นไว้ว่า “คุณหมอระดับหมออนามัยและหมอโรงพยาบาล เขารู้ว่า ในแต่ละชุมชนอันประกอบด้วยบ้าน วัด โรงเรียนนั้น มีกิจกรรมทางสังคมที่สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีกันอยู่แทบทุกเดือน บางกิจกรรมจัดในหมู่บ้าน บางกิจกรรมจัดในวัด บางกิจกรรมจัดในโรงเรียน เหล้าและบุหรี่ เป็นปัจจัยหนึ่งในหลายกิจกรรม นับแต่เซ่นผีบรรพบุรุษ, เซ่นผีมเหศักดิ์, ผีบ้าน, ผีเรือน, ผีไร่, ผีนา, ฯลฯ เซ่นแม่ธรณี, เซ่นเทวดา, เซ่นศาลพระภูมิ ตลอดจนกิจกรรมขึ้นบ้านใหม่, กินดอง, บวชนาค, งานศพ, งานผ้าป่า, งานกฐิน, บายศรีสู่ขวัญ, ผูกเสี่ยว ฯลฯ ไม่มีงานใดขาดเหล้าและบุหรี่ได้ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมและมันเป็นความเชื่ออีกด้วย การจัดกิจกรรมประเพณีในโรงเรียนมีมากมายหลายกิจกรรม นับแต่ประชุมผู้ปกครอง, ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา, ชุมนุมศิษย์เก่า, ตั้งกองกฐิน, ตั้งกองผ้าป่า, มีจัดมวย, แสดงดนตรี, ประกวดนางงาม, จัดงานมงคลสมรส ฯลฯ โรงเรียนเป็นของชาวบ้าน,ชาวบ้านเขามาใช้ บางครั้งใช้กลางวัน บางคราวใช้กลางคืน ชาวบ้านเขากินเหล้า เขาสูบบุหรี่ เราก็รู้ว่า “วัฒนธรรมชาวบ้าน” เขาเป็นแบบไหน? เขาอยู่กันมาอย่างไร? “ครูที่โรงเรียนเขาก็มีสำนึก” ว่าอะไรควร? อะไรไม่ควร? ครูส่วนใหญ่สมัยเก่าหรือครูส่วนน้อยสมัยนี้อาจมีแอบกินหล้าในโรงเรียนหรือเมามาจากนอกโรงเรียนอยู่บ้าง แต่ไม่ควรตีขลุมจนยกมาเป็นนโยบายบังคับขนาดนี้ ไม่มีหรอกที่บรรดาครู อยู่ๆก็ตั้งโต๊ะกินเหล้าในเวลาเรียนเวลาสอน เว้นแต่จำเป็นต้องรับแขก รับชาวบ้าน รับนายที่นิยมการดื่ม และหากมีอย่างนั้นเขาก็มีห้องเฉพาะในการกินการดื่มพอเหมาะพอควร ไม่ใช่เมาแอ๋ออกมาเอะอะ โวยวาย อาละวาดจนเป็นแบบอย่างไม่ดีแก่นักเรียน ความจริงแล้ว แม้นักเรียนจะไม่เห็นครูกินเหล้า สูบบุหรี่ในโรงเรียนเลย แต่พอเดินออกจากรั้วโรงเรียน พวกเขาก็เห็นคนกินเหล้า สูบบุหรี่ เห็นพ่อแม่กินเหล้า สูบบุหรี่ เห็นจนชินตา เห็นจนเป็นเรื่องปกติและกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว “เหล้า บุหรี่ หมาก พลู” ไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย ไม่ใช่อบายมุข แต่เป็นตัวสื่อเจรจาความบ้านความเมืองมาแต่โบราณแล้ว “กินเหล้าอย่างไรให้มีประโยชน์?” นี่ไงคือเนื้อแท้ ทำไมไม่ให้ครูสอนเรื่องนี้