ดร. วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
รัฐวิสาหกิจปัจจุบันเหลืออยู่ 56 แห่ง หลังจากยุบเลิกไปบ้างที่ไม่สามารถสร้างศักยภาพรองรับกับวัตถุประสงค์ เพื่อจัดหารายได้เข้ารัฐ แต่ที่เหลืออยู่มิได้หมายความว่ามีกำไรทั้งหมด มีอีกหลายแห่งประสบสภาวะขาดทุนสะสม และไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ก็ยังคงมีอยู่ เพราะบางแห่งถือเป็นหน่วยงานสวัสดิการและเป็นหน่วยงานบริการสาธารณูปโภคแก่ประชาชน
ต้องยอมรับในอดีต ขณะที่ภาคเอกชนยังไม่อยู่ในฐานะที่จะจัดบริการสาธารณูปโภค และสวัสดิการที่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล หรือเป็นความมั่นคงของรัฐ ซึ่งรัฐต้องจัดทำเอง จึงได้มีการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมากมาย แต่มีมากแห่งที่ขาดศักยภาพในเชิงธุรกิจ หรือผู้บริหาร หรือคณะกรรมการ (บอร์ด) มาจากการเมืองที่อาจมุ่งประโยชน์อย่างอื่นมากกว่าผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน ดังจะเห็นได้จากเปลี่ยนรัฐบาลครั้งใด จะเปลี่ยนผู้บริหารและคณะกรรมการเกือบทั้งหมด เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า รัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานอยู่ในกำมือของรัฐบาลการเมืองแต่ละยุค จึงประสบปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นดังเป็นที่ปรากฎ
ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงเกิดขึ้นมาแล้ว รัฐธรรมนูญจึงมีบทบัญญัติที่จะป้องกันและปราบปรามนักการเมืองที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ไว้อย่างรัดกุม เช่นทุกรัฐบาลจะต้องนำยุทธศาสตร์ชาติ หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาเป็นแนวทางกำหนดนโยบายการบริหารประเทศ เป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน
มติ ครม. วันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมาได้กำหนดหลักเกณฑ์การสรรหาจัดตั้งคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจขึ้นมาใหม่ มิให้มีนักการเมืองทุกภาคส่วนเข้าไปเป็นกรรมการโดยสิ้นเชิง
โดยได้เพิ่มในส่วนของภาคธุรกิจเอกชนที่มีคุณวุฒิและเชี่ยวชาญในแต่ละบริบทของรัฐวิสาหกิจเข้าไปด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพของการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ และประชาชน ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ควรสนับสนุน มิใช่เอาแต่นักการเมืองและนักกฎหมายเข้าไปบริหารเหมือนในอดีต
สิ่งที่น่ากังวล หากเป็นนักธุรกิจภาคเอกชนต้องระวังมิให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในธุรกิจของกรรมการท่านนั้นจะต้องสืบประวัติให้ชัดเจนเป็นเรื่องที่ต้องมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ปลีกย่อยลงไปอีก
ในขณะเดียวกันแม้ว่าไม่มีเครือข่ายของนักการเมืองมาเป็นกรรมการร่วมด้วย แต่ในเมื่อมีรัฐบาลเลือกตั้ง เจ้ากระทรวงเป็นนักการเมืองจะกำกับดูแลโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว จะสามารถสั่งการข้าราชการในสังกัดที่เป็นกรรมการให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบายได้หรือไม่ก็น่าจะต้องมีมาตรการกำหนดกันอย่างไรให้ปลอดจากการเมืองอย่างสะอาด
ที่สำคัญหากรัฐบาลชุดนี้กลับมาเป็นรัฐบาลยุคเลือกตั้งมาเป็นเสนาบดีคุมกระทรวงที่มีรัฐวิสาหกิจสังกัดอยู่จะไม่มาลบล้างกฎเกณฑ์ของตัวเองที่ตั้งขึ้นมา เพราะอาจใช้เหตุของกรรมการไม่สามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้มาเป็นข้ออ้างของความเหมาะสมที่มักจะใช้กันพร่ำเพรื่อว่า “เพื่อความเหมาะสม”
กฎหมายที่กำหนดเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีศักยภาพในการบริการประชาชน และเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐมาพัฒนาประเทศเพียงแต่กฎเกณฑ์นี้จะนำไปใช้จริงจังแบบยังยืนได้เพียงใด