ดร. วิชัย พยัคฆโส [email protected] พรบ.เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เห็นว่าได้จัดทำใหม่เพื่อนำมาใช้ตั้งแต่ 26 กรกฎาคม 2560 ทำให้หน่วยงานของ กยศ. ที่ประสบปัญหาการเบี้ยวหนี้ของผู้กู้ยืมบางส่วนมานานกว่า 20 ปี น่าจะเห็นทางที่จะเป็นมาตรการให้มีการชำระคืนหลังสำเร็จการศึกษามากขึ้น เป็นที่ทราบกันดีว่าเงินกู้ กยศ.ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ปกครองและนักศึกษาที่มีรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาได้เป็นอย่างมาก เพราะผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนไว้ที่กระทรวงการคลังมากกว่า 14 ล้านคน หากมีบุตรหลานสัก 20% หรือประมาณ 3 ล้านคน จะได้อานิสงส์จากเงินกู้ กยศ. ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ลูกหลานเขาเหล่านั้นได้เป็นอย่างมาก เป็นที่ทราบกันดีว่าการกู้ กยศ. ประมาณ 1 ล้านราย แต่มีเพียงร้อยละ 20% หรือประมาณ 2 แสนรายที่สำเร็จการศึกษาแล้วไม่ชำระเงินกู้คืน ทำให้เงินทุนไม่พอที่จะให้รุ่นน้องๆ ได้มีโอกาสกู้ยืมบ้าง โดยเฉพาะมีส่วนหนึ่งที่กู้ยืมไปแล้วระหว่าง 14 – 20 ปี ไม่ชำระหนี้ ไม่ประนอมหนี้ ไม่ติดต่อธนาคารกรุงไทยทุกกรณี ทั้งๆที่ธนาคารและ กยศ. พยายามติดต่อและเปิดโอกาสให้เจรจาต่อรองก็ตาม แต่ก็เบี้ยวหนี้ไปเฉยๆ ไม่น้อยกว่า 150,000 ราย ที่ถูกดำเนินคดีถึงขั้นยึดทรัพย์ก็มีมากราย แม้ว่าธนาคารกรุงไทยและ กยศ.มิได้นำรายชื่อผู้ไม่ชำระหนี้เข้าสู่เครดิตบูโรก็ตาม แต่เมื่อผู้มีงานทำแล้วไปกู้ยืมเงินจากธนาคารไปซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ จะถูกยึดทรัพย์ชำระหนี้ได้หากธนาคาร กรุงไทยและ กยศ.สืบเสาะทรัพย์และแหล่งที่อยู่ได้ จึงมิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบของตัวเองในอดีต พรบ. ฉบับใหม่ ข่าวว่าจะกำหนดให้เจ้าของกิจการที่ผู้กู้ไม่ชำระหนี้เข้าทำงาน โดยเริ่มจากหน่วยงานของรัฐก่อน จะมีหน้าที่หักเงินเดือนหรือรายได้ส่งให้ธนาคารที่กู้มาให้ก็น่าจะให้ความร่วมมือ เพราะหากพนักงานหรือข้าราชการที่เข้ารับราชการต้องมีความรับผิดชอบ และซื่อสัตย์ต่อตนเองและหน้าที่ มิฉะนั้นอาจไม่ซื่อสัตย์หรือขาดความรับผิดชอบในการทำงานได้เหมือนกัน เรื่องนี้เห็นว่าทุกหน่วยงานราชการ และหน่วยงานภาคเอกชนควรได้ตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่เริ่มสมัครงานก่อนก็น่าจะดี ว่าเคยกู้ กยศ.ไหม ถ้าทำงานมาก่อนเคยเบี้ยวหนี้ไหม จะได้มีมาตรการให้ความร่วมมือกับธนาคารเจ้าของหนี้ และ กยศ.ในการหักเงินเดือนส่งคืนได้ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์เป็นภาษีของประชาชนที่เป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน พึงช่วยกันให้ใช้อย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อลูกหลานของเรา ประเด็นที่ต้องขอให้ กยศ.ได้ประชาสัมพันธ์ พรบ.ฉบับใหม่ให้ทุกหน่วยงานราชการที่จะขอความร่วมมือตาม พรบ.ใหม่ก่อนนั้น ให้เข้าใจวิธีการและมาตรการ หากจะมีค่าใช้จ่ายตอบแทนค่าดำเนินการให้บ้างจะเป็นส่วนหนึ่งช่วยเสริมในการทำงานให้ก็น่าพิจารณา อย่างไรก็ตามการหักภาษีเงินรายได้ให้แก่กรมสรรพากรนั้น เป็นมาตรการบังคับทุกหน่วยงานอยู่แล้ว หากจะนำมาปฏิบัติกับเงินกู้ กยศ.เชื่อว่าทุกหน่วยงานจะให้ความร่วมมือ เพื่อมิให้งบประมาณแผ่นดินต้องสูญเสียไปเพราะขาดความรับผิดชอบและขาดวินัยของเยาวชนไทยในยุคประเทศไทย 4.0 ซึ่งไม่ควรจะมีอีกต่อไป