สรุปว่าการปฏิรูปตำรวจจะเริ่มพูดคุยวางแผนกันแล้ว
เริ่มด้วยมีคณะกรรมการมาวางแผนกัน จะปฏิรูปอะไร อย่างไร ต้องรอการประชาสัมพันธ์จากคณะกรรมการนี้
สื่อมวลชนจะติดตามความก้าวหน้าอย่างไร ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของประชาสัมพันธ์และประธานกรรมการฯ ท่านจะชี้แจง
ท่านนายกรัฐมนตรีและท่านรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จะได้ไม่ต้องมายุ่งสมองเสียเวลาตอบเรื่อปฏิรูปตำรวจกันอีก
มีอะไรก็ไปติดตามจากคณะกรรมการฯท่าน อย่าไปรบกวนท่านนายกรัฐมนตรีเลย ส่งสารท่านบ้าง
เรื่องการปฏิรูปตำรวจนั้น ในสมัยหลาย ๆ รัฐบาลที่ผ่านมา ก็มีการผลักดันงานเบื้องต้นไว้แล้ว นักวิชาการก็เสนอข้อคิดไว้ไม่น้อย ฝ่ายตำรวจเองก็มีแนวทางข้อคิดไว้บ้างแล้วเช่นกัน
แต่ทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องอดีต คือเป็นความคิดเห็น เป็นข้อเสนอเมื่อหลายปีก่อน
ตั้งแต่ คสช. ทำการรัฐประหารมา เรื่องปฏิรูปตำรวจเป็นประเด็นร้อนมาตลอด มีคำวิพากย์วิจารณ์ มีข้อเสนอมากมาย แต่เกือบทั้งหมดเป็นการมอง “ปัญหาด้านลบ” ที่เกิดจากการทำงานของเจ้าพนักงานตำรวจ “ไม่ดี” เท่านั้น
ทุกองค์กรประกอบด้วยคนดีละคนไม่ดี ผลลบของตำรวจไม่ดีทำลายชื่อเสียงของตำรวจไปหมด ผลดีและจุดดีในองค์กรตำรวจ ไม่ค่อยได้รับการเผยแพร่ ยกย่องชมเชยกัน
อีกทั้งงานของตำรวจ เป็นเรื่องเกี่ยวพันโดยตรงกับชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ทุกเรื่องราวใหญ่เล็กมักต้องเกี่ยวโยงไปถึงตำรวจ ผลงานของตำรวจจึงเป็นที่วิจารณ์ของชาวบ้านทุกหย่อมย่าน
กระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจนั้นเกิดจากความปรารถนาดี ที่จะแก้ไขปัญหาสังคมองค์รวม ความคิดเห็นปฏิรูปจึงต้องกว้างขวางครอบคลุมรอบด้าน อย่าหลงเอียงไปด้านใดด้านเดียว
น่าสังเกตว่า ประเด็นใหญ่ที่ถกเถียงกันเรื่องปฏิรูปตำรวจนั้น มักมองไปที่ “ด้านลบ” หรือ “ด้านด้อย” ในการทำงานของตำรวจ ซึ่งเราก็สนับสนุนให้แก้ไข
แต่การปฏิรูปนั้น ต้องเป็นไปเพื่อ พัฒนาทั้งทางโครงสร้างและจิตสำนึกในภาระหน้าที่รับผิดชอบ ปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้น และที่สำคัญมากกว่าคือพัฒนาเพื่อให้เหมาะสมรองรับสถานการณ์ในอนาคต
บทเรียนจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอดีตนั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเตือนไว้ว่า มักเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญด้วยความกลัว คือกลัวปัญหาที่เกิดขึ้นจนทำให้ต้องฉีกรัฐธรรมนูญเก่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ จึงเน้นแต่การป้องกันแก้ไขปัญหาเก่าที่เคยเกิดขึ้น จนลืมเรื่องปัญหาใหม่ ๆ ที่ขะเกิดขึ้นใหม่เมื่อสถานการณ์สังคมมีความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
การปฏิรูปตำรวจรอบนี้ก็เข้าทำนองเดียวกัน คือห่วงแต่เรื่องตำรวจจะสังกัดขึ้นกับใคร หน่วยไหน ? จะแยกงานสอบสวนออกไปจากตำรวจหรือไม่ ? จะป้องกันตำรวจทุจริตกันอย่างไร ? เป็นต้น
ยังไม่เห็นการเน้นว่า จะสร้างองค์กรและจิตสำนึก ตลอดจนงานสนับสนุนสำหรับตำรวจยุคสังคม 4.0 กันอย่างไรเลย ?
การปฏิรูปต้องมองไปข้างหน้า ตำรวจต้องปฏิรูปเพื่อสร้างสรรค์และรองรับสังคม 4.0