ย้อนดูอดีตแล้ว ประเทศไทยปรับเปลี่ยนระบบการศึกษามามากกว่าร้อยปีแล้ว คือตั้งโรงเรียน , วิทยาลัย , มหาวิทยาลัย เป็นสถานศึกษา ควบคุมโดยหน่วยราชการระดับกระทรวง-ทบวง ผลงานก็คือได้สร้างสังคมไทยให้มีสภาพอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ ระบบการศึกษาไทย สร้างพลเมืองไทยที่มีคุณภาพได้ไม่น้อย แต่คนไทยที่ค่อนข้างด้อย ยังมีมากกว่า ถ้าพิจารณาในประเด็นว่า “พัฒนาเปลี่ยนแปลงไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเปรียบเทียบไว้นานแล้วว่า ระบบการศึกษาไทยเปรียบเหมือน “ทางด่วน” คือเมื่อดันเด็กขึ้นทางด่วนไปแล้ว มีเป้าหมายเดียว หรือทางลงทางเดียว คือ “ใบประกาศนียบัตร” “ใบปริญญา” ระบบการศึกษาไทยยังมีทางเลือกให้แยกเดินน้อยเกินไป เรื่องนี้มันก็พอดีสอดคล้องกับคติความเชื่อของคนไทยส่วนใหญ่ ที่ใฝ่ฝันว่า จะได้ “เป็นเจ้าคนนายคน” แม้ตนจะเป็นไม่ได้ ก็หวังว่า “การศึกษา” จะทำให้ลูกของตนเป็นเจ้าคนนายคนได้ และดูเหมือนว่าระบบการศึกษาไทยก็ส่งเสริมแนวคิดอย่างนั้นด้วย ประกอบกับรัฐบาลในอดีต แก้ปัญหาการสนองตอบความต้องการที่จะให้ลูกหลานได้เรียนระดับอุดมศึกษา ได้ใบปริญญาตรีกัน ด้วยการเพิ่มจำนวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยให้มากขึ้น ทั้ง ๆ ที่งบประมาณน้อย สาขาที่เพิ่มจำนวนนักศึกษาจึงต้องเป็นสาขาที่ใช้งบประมาณลงทุนไม่มาก แต่แล้วสาขาที่รับนักศึกษาเพิ่มขั้นนั้น มันไม่ตรงกับความต้องการที่เป็นจริงในตลาดแรงงาน ปัญหาที่ก่อไว้เมื่อสามทศวรรษที่แล้ว ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จึงกำลังแสดงผลอยู่ขณะนี้ ปัญหาระบบการศึกษานั้น มันจะแสดงผลในระยะยาว ดังที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา ให้ทัศนะไว้ว่า “ผลการศึกษาบอกเราว่า ผลกระทบของปัญหาการศึกษา ถ้ามองระยะสั้นก็ผลไม่มาก แต่ระยะยาวจะมีผลมหาศาล ซึ่งแม้เราจะเริ่มปฏิรูปการศึกษากันในวันนี้ ก็ต้องใช้เวลาอีก 10 ปี กว่าจะปฏิรูปสำเร็จ แต่ก็ต้องใช้เวลาอีก 20 ปีถึงจะเห็นผลสำเร็จ คือ เห็นว่าสัดส่วนแรงงานที่มีทักษะดีจะเป็นครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด ซึ่งสะท้อนว่า เราต้องรีบและเร่งทำการปฏิรูปการศึกษาให้เร็ว เพราะกว่าจะเห็นผลนาน และวิธีนี้จะเป็นวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ต่อเนื่อง ยั่งยืนที่สุด” ความผิดพลาดบกพร่องเมื่อสามสิบปีก่อนกำลังแสดงผลของมัน ทั้ง ๆ ที่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติกำหนดไว้นานแล้วว่า จะเปลี่ยนเศรษฐกิจพื้นฐานของไทยให้เป็นอุตสาหกรรม แต่ระบบการศึกษามิได้เน้นสร้างคนไทยไว้รองรับ ทุกวันนี้บัณฑิตมีคุณภาพในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ กำลังขาดแคลน แต่คนจบปริญญาตรีสาขาที่ตลาดแรงงานไม่ต้องการกลับล้นตลาด จนต้องยอมรับการทำงานตำแหน่งและเงินเดือนที่ต่ำกว่าวุฒิปริญญาตรี ขณะนี้รัฐมียุทธศาสตร์สร้างสังคมอุตสาหกรรม 4.0 แต่จะมีระบบการศึกษาอย่างไร มาสร้างทรัพยากรบุคคลรองรับ ? ถ้าเริ่มปฏิรูปการศึกษาวันนี้ ต้องใช้เวลาสิบปีในการปฏิรูป แล้วรออีกสิบปีจึงจะเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม แต่ปัญหาที่หนักกว่านั้นคือ ระบบการศึกษาไทยเปลี่ยนทุกครั้งพร้อมตัวรัฐมนตรี ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่เสมอ