ดร. วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
เห็นรัฐบาลพยายามจะสนับสนุนส่งเสริม และเตรียมจัดสวัสดิการให้แก่ ผู้มีรายได้น้อย ทั้ง 14.9 ล้านคน ที่มีรายได้ต่อปีไม่ถึง 30,000 บาท หรือ 2,500 บาท ต่อเดือน ต่ำกว่าแรงงานขั้นต่ำของประเทศ 310 บาทต่อวัน มากอยู่ควรต้องสนับสนุนให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นกว่าเดิม
ในขณะที่แรงงานขั้นต่ำ 310 บาทต่อวัน ยังเรียกร้องให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น แล้วผู้มีรายได้น้อยมีรายได้วันละไม่ถึง 100 บาท จะอยู่ได้อย่างไร ในค่าครองชีพขณะนี้จึงเห็นด้วยที่จะต้องปรับปรุงสวัสดิการ และสร้างรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยทั้ง 14.9 ล้านคน หรือเกือบ 20% ของประชากรทั้งประเทศ เป็นโจทย์ที่หนักอึ้งของรัฐบาล
หากพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำของกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีเพียง 2 ประเทศที่มีรายได้ประชากรเกินประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ได้แก่ สิงคโปร์ ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันสูงถึง 2,000 บาท บรูไน 1,800 บาท ไทยอยู่อันดับรองลงมา 310 บาท ยังอีกหลายเท่ากว่าจะทัดเทียมเขา
เช่นเดียวกับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาขุดทองในไทยคงยังมีต่อเนื่อง เพราะกัมพูชาค่าแรงขั้นต่ำ 75 บาท ลาว 80 บาท เวียดนาม 95 บาท เท่านั้น แรงงานใน 3 ประเทศนี้จึงหลั่งไหลมาสู่แรงงานในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น แต่จะทำอย่างไรผู้มีรายได้น้อย 14.9 ล้านคน จึงจะมีรายได้เท่ากับแรงงานต่างด้าวกับเขาบ้าง
แน่นอนว่า 14.9 ล้านคน คงมีผู้สูงอายุ และหาเช้ากินค่ำอยู่มาก คงต้องแบ่งกลุ่มคนเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเขาเท่าที่จะทำได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เชื่อว่ากระทรวงการคลังคงแยกแยะคนเฉพาะกลุ่มไว้บ้างแล้ว เพื่อจะพัฒนารายได้และอาชีพที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับเขา ซึ่งรัฐบาลเดินนโยบายมา
ถูกทางแล้ว
นั่นคือส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนบางกลุ่มที่ขาดโอกาส แต่กลุ่มคนที่มีโอกาสคือกลุ่มเกษตรกร เอสเอ็มอี และการพัฒนาศักยภาพคนจากสถาบันการศึกษา ทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ทำอย่างไรจะมีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท ในอีก 20 ปี ข้างหน้า เพื่อหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางตามยุทธศาสตร์ชาติ
ดังนั้นโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จึงเป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่เน้นการสร้างเศรษฐกิจระดับโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศมาลงทุน เพื่อหวังผลการพัฒนาคนไปรองรับให้สามารถทำงานกับบริษัทต่างชาติระดับโลก จะส่งผลต่อรายได้เป็นอีกกลยุทธหนึ่ง
ที่รัฐบาลตั้งใจ
ประเด็นจึงอยู่ที่สถาบันการศึกษาที่จะต้องพัฒนากำลังคนไปรองรับกับอาชีพในอนาคต ซึ่งเป็นโจทย์ที่กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงานควรได้บูรณาการยุทธศาสตร์ชาติและกลยุทธร่วมกันเพื่อให้คนไทยเป็นคนในยุค 4.0 ได้อย่างไรเท่านั้น