ดร. วิชัย พยัคฆโส [email protected] รอมานานกับการจดๆ จ้องๆ จะให้งบประมาณด้านการวิจัยของประเทศพุ่งมาถึง 1% เพื่อสร้างนวัตกรรมให้เกิดคุณค่าเพิ่มของประเทศ รัฐต้องใจป้ำทุ่มงบประมาณไปก่อนที่จะเกี่ยงให้ภาคเอกชนเขาลงทุนตามสัดส่วนที่กำหนด ครั้งนี้รัฐบาลจุดพลุประเทศไทย 4.0 โดยมียุทธศาสตร์ 20 ปี ใช้ Innovation Based Economy มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนถือได้ว่าได้ผล เพราะทุกหน่วยงานตื่นตัว ตื่นเต้น ลุกขึ้นมาจัดทำแผนพัฒนาในเชิงยุทธศาสตร์ 20 ปี กันถ้วนหน้า หากไม่ให้หน่วยงานราชการหลับ รัฐบาลต้องตื่นขึ้นมาปลุกทุกหน่วยงานเช่นนี้ น่าจะขับเคลื่อนได้ ข่าวที่น่ายินดีต่อการที่รัฐบาลจะเน้นงานวิจัยมาที่มหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งนักวิชาการ นักวิจัยมากมาย ซึ่งทำผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติมากมาย แต่มีส่วนน้อยที่จะนำผลงานวิจัยที่โดดเด่นออกจากหิ้งไปสู่ห้าง เพราะขาดการบูรณาการระหว่างภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การวิจัย และนวัตกรรมที่จริงจังของรัฐบาล รัฐบาลตัดสินใจที่จะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรกจะให้มหาวิทยาลัยของรัฐ 27 แห่ง จัดตั้งศูนย์กลางนวัตกรรม 5 แห่งๆ ละ 300 ล้านบาท รวม 1,500 ล้านบาท ได้แก่ 1. กลุ่มอาหารและเกษตร 2. กลุ่มพลังงาน 3. กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 4. กลุ่มสังคมคนสูงวัย 5. กลุ่มสมาร์ทซิตี้ ในส่วนที่ 2 จะเป็นงบประมาณวิจัยเฉพาะทางให้กับมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง ทำวิจัย 2 แห่งๆ ละ 500 ล้านบาท รวม 1,000 ล้านบาท ได้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำวิจัยเกี่ยวกับ Bio – Tech (เทคโนโลยีชีวภาพ) และมหาวิทยาลัยมหิดล ทำวิจัยเกี่ยวกับ Bio – Med (ชีวภาพด้านแพทย์และสุขภาพ) โครงการนี้จะจุดประกายให้ชาวมหาวิทยาลัยได้ร่วมพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม รองรับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้ได้ผลการวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดคุณค่า (Value Creation) ให้กับประเทศมากขึ้น เพราะทั้ง 2 แห่ง มีศักยภาพเฉพาะด้านการเกษตร และการแพทย์เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว หากมีงบประมาณและมอบความไว้วางใจเช่นนี้ เชื่อได้ว่านักวิจัยจะมีกำลังใจและเต็มใจที่จะสร้างคุณค่าของงานให้กับประเทศ การทุ่มเทงบประมาณเข้าไปอย่างเดียวนั้น คงไม่พอและยั่งยืนน่าจะต้องมีการบริหารจัดการที่มีระบบและมีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย เช่น จะตั้งศูนย์กลางนวัตกรรมที่ใด ไม่ควรให้อยู่ในที่ตั้งของมหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่ง เพราะจะเป็นการครอบครองให้เป็นอาณาจักรของตนเอง พึงต้องตั้งที่ส่วนกลาง เปิดโอกาสให้นักวิจัยเข้ามาสร้างงานวิจัย และนวัตกรรมให้สะดวก พึงมีระบบคัดกรอง เชิญชวนนักวิจัยเฉพาะด้านจากมหาวิทยาลัยอื่นเข้ามาร่วมบูรณาการเพื่อชาติบ้านเมือง มิใช่เพื่อมหาวิทยาลัยของตนเองเท่านั้น เช่นเดียวกันทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล รัฐบาลคงมุ่งหวังให้เป็นเจ้าภาพ โดยมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้งหมดที่มีศักยภาพของนักวิจัยมาร่วมกันพัฒนาเช่นเดียวกัน เพราะประเทศไทยต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำมานานแล้ว ทำอย่างไรจะเปิดอาณาเขตที่ปิดกั้นออกมารับนักวิจัยมาเป็นเครือข่ายร่วมกัน อย่างไรก็ตามขอปรบมือให้กับ ดร.สุวิทย์ เมษิณทรีย์ ที่เป็นผู้ผลักดันให้เกิดโครงการที่เป็นประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเช่นนี้ โดยใช้ทรัพยากรที่เป็นคนไทยได้แสดงศักยภาพเป็นที่ปรากฎแก่นานาชาติ