เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
สังคมไทยชอบใช้คำว่า “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ถ้าไปดูประเทศพัฒนาอื่นๆ จะพบคำนี้น้อยมากหรือแทบจะไม่ใช้กันเลย เขารู้ว่าสิทธิและหน้าที่ของประชาชนคืออะไร ขณะที่ประเทศไทยคนมีอำนาจ “มีสิทธิ” และประชาชนคนทั่วไป “มีหน้าที่”
คนมีสิทธิก็ออกฏหมาย กฎระเบียบต่างๆ ทำแผนงาน โครงการ และให้ “ประชาชนมีส่วนร่วม” ให้มีส่วนร่วมด้วย “การทำประชาคม” โดยระดมคนมาประชุมกันสักชั่วโมงแล้วยกมือเห็นด้วยไม่เห็นด้วย หรือทำประชาพิจารณ์แบบจัดตั้ง แบบหลอกๆ ในหลายกรณี (แล้วอธิบายด้วยทฤษฎีมีส่วนร่วมน่าเชื่อถือว่า ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผลประโยชน์ บลา บลา บลา )
เป็นเวลานานมากแล้วที่เราใช้คำว่า “คืนอำนาจให้ประชาชน” จนเบื่อที่จะพูด เพราะถูกบิดเบือนให้กลายเป็นคำอธิบายประชาธิปไตยที่หมายถึงแต่เพียงการไปเลือกตั้ง แต่ 30 กว่าปีก่อนเริ่มมีการขยายความว่า “คืนการศึกษาให้ประชาชน” “คืนสุขภาพให้ประชาชน” “คืนการพัฒนาให้ประชาชน”
ด้วยแนวคิดที่ว่า อำนาจเป็นของประชาชน แต่มีคนเอาอำนาจนี้ไป อ้างว่าได้รับการมอบอำนาจนี้จากประชาชน (หรือยึดมาเองอ้างว่าสถานการณ์บังคับ) จึงคิดและทำทุกอย่างแทนประชาชนและเรียกร้องให้ “ประชาชนมีส่วนร่วม”
ประเทศไทยจึงมีกฎหมายนับหมื่นฉบับที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วม วันดีคืนดีก็มีกฎหมายออกบังคับตนเอง โดยเฉพาะบรรดากฎกระทรวงต่างๆ ที่อ้างว่าออกตามกฎหมายแม่ที่ผ่านสภาแล้ว ถึงไม่แปลกที่ข้าราชการยังคิดว่าตนเองเป็น “เจ้าคนนายคน” เพราะมีอำนาจในการออกกฎหมายและใช้กฎหมายที่ตนเองเป็นคนออกเอง
อย่างเรื่อง “หมู” ที่ไม่หมูในกรณี “หมูเมืองตรัง” ที่มีชื่อเสียงและเป็นเอกลักษณ์จุดขายของจังหวัดนี้ที่รัฐออกกฎหมายเรื่อง “โรงฆ่าสัตว์” ที่ต้องกระทำที่โรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งการทำให้หมูย่างเมืองตรังอร่อยเขามีกระบวนการทางภูมิปัญญาเก่าแก่ที่ต้องทำเองทุกขั้นตอน เอาไปให้โรงฆ่าสัตว์จัดการฆ่าให้ก็ไม่มีทางทำให้ได้หมูย่างเมืองตรังแบบดั้งเดิมได้
ขณะที่รัฐบาลนี้พยายามปฏิรูปบ้านเมือง รีบเร่งออกกฎหมาย รวมทั้งการใช้ม.44 ยิ่งชัดเจนว่า อำนาจไม่ใช่เป็นของปวงชนชาวไทย แต่เป็นของรัฐ ที่สร้างกลไกขึ้นมาเพื่อทำให้อำนาจรัฐเข้มแข็งกว่าเดิม ไม่ใช่ สังคมเข้มแข็ง ไม่ต้องพูดถึงชุมชน เพราะถูกมองข้ามไปหมด
เพราะถ้ามองเห็นหัวของประชาชนจริงๆ รัฐต้องกล้าปรับทัศนคติของตนยอมรับความหลากหลายของสังคม ของชุมชน และวิถีชีวิตของประชาชน ที่มี “ภูมิสังคม” ที่แตกต่างกัน ด้วยการรับฟังความคิดเห็น ยอมรับศักยภาพของท้องถิ่นในการเป็นพลังสำคัญในการปฏิรูปบ้านเมือง
ไม่ใช่คิดจากโหมดหรือจากมุมของ “การมีส่วนร่วม” แต่จากมุมของ “สิทธิของพลเมือง” ของสังคม ของชุมชนที่จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบาย การออกกฎหมาย เพราะนั่นหมายถึงการยอม “คืนอำนาจให้ประชาชน” เพราะเชื่อว่า “อำนาจเป็นของปวงชน”
ในกรณีหมูเมืองตรังและอีกหลายกรณี ด้านหนึ่งก็อยากส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ก็กลับ “ตัดสูทไซส์เดียวให้คนใส่เหมือนกันทั่วประเทศ” พอๆ กับตัดรองเท้าเบอร์เดียวบังคับให้ทุกคนใส่ ใส่ได้ใส่ไม่ได้ก็ต้องใส่ เขาทำมาให้อย่างนี้ ใส่ไม่ได้ก็ให้ตัดเท้าให้เข้ากับเกือก
ประเทศด้อยพัฒนาที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำตัวเป็นคนรู้เรื่องท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่น ออกกฎระเบียบบงคับคนท้องถิ่นให้เป็นไปตาม “มาตรฐาน” ที่ตนเองคิดขึ้นมา สุดท้ายก็ไปทำลายภูมิปัญญาและศักยภาพของท้องถิ่นไป ดังกรณี “เหล้า” พื้นบ้านของไทยที่ถูกทำลายไป มอบสัมปทานแบบผูกขาดให้นายทุนไปผลิตเหล้าให้ชาวประชาดื่มกันทั้งประเทศไม่กี่ยี่ห้อ ทั้งๆ ที่ควรจะมีสักหลายพันยี่ห้อ เป็นพลังทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นและประเทศชาติ
ประเทศมหาอำนาจที่ไปรุกรานคนพื้นเมืองที่อเมริกา แคนาดา เดนมาร์ก ออสเตรเลีย ที่เคยครอบงำทำลายวัฒนธรรมวิถีคนพื้นเมืองที่มีถิ่นฐานดั้งเดิม ล้างสมอง ถอนทำลายรากเหง้าของลูกหลานคนพื้นเมือง วันนี้ต่างก็ต้องทำการขอโทษคนเหล่านั้นกันเกือบทุกประเทศแล้ว สารภาพว่าได้กระทำผิดไป
เดิมทีประเทศมหาอำนาจเหล่านี้อ้างว่าทำไปด้วยความหวังดี อยากให้คนพื้นเมืองกลายเป็นคนศิวิไลซ์ จึงให้การศึกษา ให้สถานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ลูกหลานของคนเหล่านี้ที่เติบโตในสังคมประชาธิปไตยวันนี้บอกว่า พวกเขาได้อะไรดีๆ หลายอย่าง แต่ไม่ได้สูญเสียสิ่งสำคัญที่สุดไป คือ อัตลักษณ์ที่มาจากรากเหง้าของตน ซึ่งถูกทำลาย ทำให้ไม่รู้ว่าคนเองเป็นใครมาจากไหน
คงไม่ถึงขั้นต้องขอโทษ ขอเพียงผู้มีอำนาจในสังคมไทยยอมรับที่จะ “คืนอำนาจให้ประชาชน” จริงๆ ไม่ใช่ตั้งตนเป็นสรรพพัญญูรู้ทุกอย่าง แล้วให้ประชาชน “มีส่วนร่วม” คำที่ควรเลิกใช้ถ้ารักจะเป็นสังคมประชาธิปไตย