ดร. วิชัย พยัคฆโส [email protected] คำถามจากท่านนายกรัฐมนตรีถึงคนไทยทั้งประเทศใน 4 คำถาม กำลังอยู่ในแวดวงวิพากษ์ของนักการเมืองกันอึงคนึงว่าโยนภาระให้ประชาชนถ้าได้คำตอบแล้วจะเอาไปทำอะไรก็ยังดูมืดมน ผมก็เป็นคนไทยคนหนึ่งและมีสิทธิในการเลือกรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญใหม่คงมีสิทธิแสดงความเห็นในฐานะสื่อมวลชนอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งทั้ง 4 คำถามสอดคล้องกันทั้งหมด น่าจะเป็นคำถามที่อยู่ในความกังวลของคนไทยที่จะได้รับสิทธิตามระบบประชาธิปไตยอยู่บ้างแล้ว ก่อนที่ คสช. จะเข้ามาบริหารประเทศแทนรัฐบาลการเมืองที่ทำให้รู้ความแปลกแยกของคนในชาติ อาจมองได้ว่าความเป็นประชาธิปไตยให้กับคนไทยและพรรคการเมืองไม่บรรลุเป้าหมายหลักของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะมีการแบ่งขั้วการเมือง แบ่งกลุ่มคน แทนที่จะมีเอกภาพในการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาประเทศ คสช. คงทราบดีว่ามีปัญหาสะสมและทับถมกันอยู่มาก จึงกังวลว่าการปฏิรูปประเทศอาจไม่บรรลุเป้าหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดขอบเขตไว้กระมัง ความเป็นจริงประชาชนกังวลกันอยู่บ้างแล้วว่าหากเลือกตั้งครั้งหน้าอาจไม่ได้รัฐบาลที่มี ธรรมาภิบาลแล้วจะกลับสู่วังวนเดิมของการเมืองที่ไม่ยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ แต่อาจใช้ประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อพรรคตัวเอง เหมือนในอดีตที่ผ่านมาก็ได้ ข้อนี้ข้อเดียวทุกอย่างที่ คสช. สร้างมา 3 - 4 ปี จะเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ คราวนี้น่าจะเป็นประเด็นที่นายกรัฐมนตรี ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการเลือกตั้ง ต้องช่วยกันวิเคราะห์และพิจารณาถึงตัวบุคคลมากกว่าจะคำนึงถึงพรรคหรือประโยชน์จากที่พรรคหยิบยื่นให้ แต่ให้เลือกคนมีธรรมมาภิบาลมาบริหารประเทศ โดยยึดกรอบของรัฐธรรมนูญและกรอบของแนวทางการปฏิรูปประเทศ ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามกฎหมายลูกที่กำลังร่างกันอยู่ จึงน่าจะเป็นธรรมาภิบาลของพรรคการเมืองที่ยึดหลักการและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เราก็น่าจะได้การเมืองที่มีธรรมาภิบาลเป็นเป้าหมายของการเลือกตั้ง ผมเห็นว่าหากได้คนหรือพรรคการเมืองที่มีธรรมาภิบาลเสียแล้วข้ออื่นๆ คงไม่ต้องตอบก็ได้ ประเด็นจึงอยู่ที่จะช่วยกันเลือกให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ไม่ติดยึดกับตำแหน่งและอำนาจ อย่างไรเท่านี้ก็น่าอุ่นใจ และสร้างความมั่นใจได้ระดับหนึ่งแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้เป็นประเทศไทยยุค 4.0 ในหลายๆ มิตินั้น ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานต่างเร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์รองรับกันอยู่แล้วให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 หากแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานกำหนดเป้าหมายหลักตรงกันก่อนการเลือกตั้ง เชื่อว่าแนวทางการปฏิรูปประเทศเพื่อการพัฒนาคงไม่มีรัฐบาลใดมายกเลิก เพราะเป็นเป้าหมายที่จะนำพาคนไทย ให้เกิดความสุขในอนาคตรวมทั้งนักการเมืองด้วย ช่วงนี้รัฐบาล คสช. พึงต้องเร่งระดมให้ทุกกระทรวงจัดทำยุทธศาสตร์รองรับให้สำเร็จ แล้วปรับกลยุทธ์ระบบราชการให้เข้มแข็งก่อน หากระบบราชการยังอ่อนแอเหมือนเดิม ความล้มเหลวของการปฏิรูปประเทศก็คงยากที่จะส่งผลให้บรรลุเป้าหมายอยู่ดี สรุปได้ว่าระบบบริหารราชการแผ่นดินต้องมีความเข้มแข็ง สามารถชี้นำการปฏิรูปประเทศร่วมกับภาคเอกชนด้วยความมั่นใจและมีธรรมาภิบาลให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และนานาชาติเสียก่อนที่จะไปห่วงรัฐบาลเลือกตั้ง