แสงไทย เค้าภูไทย
ภายใต้สถานการณ์วุ่นวายในรัฐบาล 19 พรรค มีการเสนอทางเลือกให้ผู้นำรัฐบาลสองทาง คือปรับครม.หรือยุบสภาฯ เพื่อหาทางออกจากวังวนผลประโยชน์ของแต่ละพรรค
แต่ก็มีหลายพรรค ทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้าน เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 60 ก่อนแล้วค่อยยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
การยุบสภาฯถือเป็นการ “ล้างไพ่” สลายขั้ว เมื่อเลือกตั้งกันใหม่ จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้มา จะเป็นตัวกำหนดว่า ใครจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล
เชื่อว่า ผู้นำรัฐบาลวันนี้ไม่น่าจะเลือกทางเลือกนี้ เพราะการยุบสภาฯเพื่อเลือกตั้งใหม่นั้น จะกระทำก็ต่อเมื่อรัฐบาลหรือพรรครัฐบาลมีคะแนนนิยมเหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม
รัฐบาลไม่ต้องสำรวจความนิยมที่ประชาชนมีต่อผู้นำรัฐบาลและบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลเอง เพราะมีสำนักโพลสำรวจให้แล้ว
พบว่า พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมสูงสุด 16.7% กับ 15.7%รวมกัน 32.4% รองลงมาประชาธิปัตย์ 8.7% มีตัวแปรคือภูมิใจไทย 6% ส่วนพลังประชารัฐ 8.3%
แม้จะเชื่อมั่นว่า เลือกตั้งใหม่ พรรคพปชร.แกนนำรัฐบาล 19 พรรคขณะนี้จะกลับมาใหม่ แม้คะแนนจะต่ำกว่าครั้งที่แล้ว แต่ก็ยังมี “พรรคลุงตู่” ส.ว. 250 เสียงค้ำให้อยู่
ถ้าเป็นเช่นนั้น จะยุบสภาฯไปเลือกตั้งกันใหม่ทำไมให้เหนื่อยระกำลำบาก
เพราะเลือกตั้งแต่ละครั้ง ว่าที่ ส.ส.แต่ละคนต้องลงทุน ลงแรงตรากตรำมาก ยิ่งเลือกบ่อยยิ่งเข็ดขยาด
ซ้ำเลือกตั้งใหม่ก็ใช่ว่าจะได้จำนวน ส.ส.เพิ่ม มีแต่จะลด เพราะความเชื่อมั่น และความนิยมในรัฐบาลชุดนี้นับวันแต่จะลดลง ดังผลโพลที่ออกมา
ซ้ำร้ายอาจเกิดอุบัติเหตุได้ หากพรรคต่ำสิบ ได้รับข้อเสนอดีๆรวมเสียงกับพรรคอันดับ 1-2-4 แล้วได้มากกว่าเสียงพรรคหลักบวกเสียง ส.ว. 250 เสียง
มีทางเป็นไปได้ หากมีแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่มีบารมีอย่างในอดีตที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นำกิจสังคมที่มีเสียงแค่ 18 เสียง จัดตั้งรัฐบาลได้จากการรวบรวมพรรคเล็กพรรคน้อยรวมกันแล้ว 13 พรรค
แต่ก็นั่นแหละ มากพรรค มากความ แย่งชิงตำแหน่งและผลประโยชน์กันนัวเนีย อยู่ได้ราวเกือบปี นายกฯต้องยุบสภาฯ
เหตุการณ์แบบเดียวกันกับรัฐบาลชุดนี้
ต่างกันแต่ว่า ครั้งนั้น ฝ่ายพรรคแกนนำ ไม่มีตัวช่วย 250 ส.ว.มาเป็นตัวเลือกนายกฯเท่านั้น
วันนี้ การเลือกทางออกด้วยการยุบสภาฯ จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี
คำว่ายุบสภาฯ จึงมีไว้ขู่ส.ส.นักวิ่งชิงเก้าอี้มากกว่าจะเอาจริง
เพราะถ้าไม่ขู่ไม่ข่มกันไว้ ความวุ่นวายจะหนักกว่านี้ เหตุจากมีพรรคร่วมรัฐบาลถึง 19 พรรค มากที่สุดในประวัติศาสตร์
ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรี ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มีสาเหตุมาจากการแย่งชิงตำแหน่งในรัฐบาล
กระทรวงสำคัญๆมีผลประโยชน์นั้น อย่าว่าแต่ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเลย ภายในพรรคที่ได้โควตาคุมกระทรวงนั้นๆต่างก็แย่งกันพัลวัน
เพราะถือว่าเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นสมบัติผลัดกันชม ห้ามนั่งนาน
ที่เจอแรงๆจังๆก็คือ กระทรวงแรงงานที่ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล อดีตหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่มีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเงาหลัง เป็นรัฐมนตรีว่าการ
ผลประโยชน์ด้านแรงงานนั้นมหาศาลแค่ไหน ให้ดูที่โควตาส่งแรงงานไปตะวันออกกลางก็แล้วกัน
ลูกพรรคบางคนบอกว่าตั้งแต่เป็นรมว.กระทรวงนี้มา หม่อมเต่าทำงานไม่เข้าตาหรือพูดกันตรงๆว่าไม่มีผลงาน
แรงกดดันทำให้ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค ทั้งๆที่ช่วงเลือกตั้ง หม่อมเต่าอยู่ในฐานะกระเป๋าเงินของพรรค
จะด้วยเงินตัวเองหรืออาศัยบารมีอดีตปลัดกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่บรรดานายแบงก์เกรงอกเกรงใจกันก็ตาม
การปรับครม.ก็ใช่ว่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะคนดีมีฝีมือในทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้น ไม่ใช่คนที่อยู่ในพรรค
ส.ส.หรือแกนนำพรรคไม่ว่าจะพรรคไหน จะกีดกันคนนอก คนที่แต่ละพรรคเสนอขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีหรือตำแหน่งต่างๆในรัฐบาล ถือเป็น “โควตาพรรค”
เศรษฐกิจอ่อนแอ เป็นปมด้อยของรัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำตั้งแต่เป็นรัฐบาล คสช.มาจนถึงรัฐบาลเลือกตั้งจำแลง
ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย การเติบโตของเศรษฐกิจติดลบที่ยิ่งนานยิ่งลบหนัก จากเดิมคาดว่าจะแค่ –5%ถึง -6 % ล่าสุดสำนักวิจัยของธนาคารพาณิชย์เอกชนมองว่า ปลายปีอาจจะติดลบถึง -8% ถึง -10%
เศรษฐกิจแบบนี้ ถ้าไม่ได้มือขั้นเทพแล้ว งานนี้เอาไม่อยู่
การปรับครม.จึงเป็นแค่เหล้าเก่าเปลี่ยนขวดใหม่เท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น จาก “ขอเวลาอีกไม่นาน” มาเป็นขออยู่แสนนาน ถึงขนาด “เทพเทือก” ออกมายืนยันว่ารัฐบาลนี้อยู่ครบเทอมแน่ ก็ทำให้เชื่อว่าบิ๊กตู่จะเลือกปรับครม.แบบซ่อมเล็ก
อาจจะแค่ตำแหน่งเดียวคือรมว.แรงงานก็ได้
เพราะในยามที่เผชิญศึกหนัก ทั้งจากไวรัสโควิด-19 ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจและแรงกดดันจากสังคมโลก การเปลี่ยนม้ากลางศึกนับว่าเสี่ยงสาหัส
แต่การจะอยู่ยาวไปจนครบเทอม ก็มีข้อแม้จากฝ่ายค้านและพรรคใหญ่บางพรรคในรัฐบาล อย่างที่นายเทพไท เสนพงศ์ แห่งประชาธิปัตย์ เสนอว่าให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก่อนแล้วค่อยยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน
จะอย่างไรก็ตาม การใช้รัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่บิดเบือนธรรมาภิบาลทางการเมืองจนเสียงข้างน้อยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
ย่อมจะมีจุดจบไม่ต่างไปจากรัฐบาลกิจสังคมในอดีต
ประวัติศาสตร์ย่อมซ้ำรอยตัวมันเองเสมอ