การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(วิปสปท.).ในวันที่ 29 พ.ค. 2560 มีวาระพิจารณารายงานการปฏิรูป 2 เรื่อง คือ 1.รายงานของกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่อง ข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองเพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 2.รายงานของกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่อง แผนการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา
แผนการปฏิรูประบบการอุดมศึกษามีข้อเสนอสำคัญดังนี้
2.1ให้มีการจัดตั้ง “กระทรวงอุดมศึกษา” ขึ้นเพื่อกำกับดูแลการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นการเฉพาะ 2.2ให้แยกการกำกับดูแลคุณภาพการศึกษา ออกจากการประกันคุณภาพศึกษาอย่างชัดเจน และส่งเสริมการประเมินคุณภาพการศึกษาเพื่อการพัฒนาเป็นสำคัญ
ทั้งนี้จะมีการเสนอให้มีการแบ่งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเป็น 5 ประเภท คือ 1.มหาวิทยาลัยวิจัย 2.มหาวิทยาลัยเชี่ยวชาญเฉพาะ 3.มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาประเทศ 4.สถาบันการศึกษาเฉพาะทาง 5.สถาบันการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา
การแยกการจัดการระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษากับระบบการศึกษาพื้นฐาน (กระทรวงศึกษาธิการ) นั้น เราเห็นด้วย
“การศึกษาพื้นฐานเป็นการสอนเด็กให้มีความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและการเรียนรู้ต่อไปได้ (คือ การฝึกระเบียบวินัยและปลูกฝังค่านิยม การฝึกให้การอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น ใช้เทคโนโลยีพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ต่อไป การฝึกทักษะการทำงานเบื้องต้น เป็นต้น) เป็นความรู้ทักษะร่วม ไม่แยกเฉพาะทาง หรือไม่ได้แยกสาขาอาชีพ
แต่อุดมศึกษาเป็นการศึกษาขั้นสูงมุ่งเน้นความรู้และทักษะขั้นสูงหรือขั้นอุดม เพื่อการทำงานประกอบอาชีพ และเน้นความชำนาญเฉพาะด้าน และเลือกเป็นสาขาอาชีพด้านต่างๆ เพื่อการดำเนินชีวิตในสังคมอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ อุดมศึกษายังต้องเน้นการทำงานวิจัยและพัฒนา สร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรม ซึ่งจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การศึกษาระดับปริญญาตรี และเข้มข้นจริงจังมากขึ้นในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและเอก) และการฝึกฝนต่อในระดับหลังปริญญาเอก
โดยเฉพาะถ้าหากประเทศไทย จะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ก็จะต้องเพิ่มและขยายงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย อุดมศึกษายิ่งควรจะต้องแยกออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการเดิม จัดการศึกษาพื้นฐานให้ดีและมีคุณภาพ ส่วนอุดมศึกษา ควรจะแยกออกเป็น "กระทรวงอุดมศึกษาและวิจัยหรือนวัตกรรม" เสียเลย เพียงแต่ว่าจะต้องทำให้กระทรวงใหม่นี้ เป็นกระทรวง 4.0 นำร่องให้กระทรวงอื่นๆ ด้วย เพราะการจะทำให้ประเทศไทยเป็นเวอร์ชั่น 4.0 แต่รัฐบาลและกระทรวงทบวงกรม ซึ่งเป็นผู้บริหารและขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยังอยู่ในเวอร์ชั่นต่ำกว่า 4.0 จะเป็นไปได้อย่างไร อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องเปลี่ยนให้เป็นเวอร์ชั่น 4.0 ไปด้วยกัน
การเอาภารกิจคนละแบบมารวมอยู่ในกระทรวงเดียวกัน เป็นความผิดพลาดและเป็นปัญหาทำให้การพัฒนามหาวิทยาลัยทำไม่ได้ดีเท่าที่ควร ยิ่งบางยุคบางสมัย มีการเอาผู้บริหารที่รู้เรื่องการศึกษาพื้นฐานดี แต่ไม่รู้เรื่องอุดมศึกษาหรือรู้ไม่มากพอมาเป็นผู้บริหารอุดมศึกษา ก็ยิ่งทำให้การพัฒนาอุดมศึกษาเกิดความติดขัดชะงักงัน การแยกอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นการเดินหน้าแล่นเรือออกจากคลอง สู่แม่น้ำและทะเลใหญ่ ไม่ใช่การถอยหลังเข้าคลองอย่างที่เข้าใจแต่อย่างใด” (ในเครื่องหมายคำพูดเป็นความเห็นของ ศ.ดร.เพทาย เย็นจิตโสมนัส) การขึ้นต้น แยกการจัดการอุดมศึกษาออกมานั้นเหมาะแล้ว แต่พอดูวิสันทัศน์การแบ่งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเป็น 5 ประเภทแล้ว ไม่รู้จะหัวเราะหรือร้องไห้ดี