โลกกำลังอยู่ในระยะผ่าน จะมีความเจ็บปวดมากกว่าโลกระยะสงบนิ่ง
แล้วอะไรคือ “ระยะผ่าน” นี้ ?
ควรมองข้ามพ้นประเทศไทย มองสถานการณ์ในทั้งโลกด้วย จึงจะเข้าใจเรื่องนี้
สงครามโลกสองครั้งที่ผ่านมานั้น เป็นผลพวงของการพัฒนาระบอบเศรษฐกิจทุนนิยมจนถึงขั้นที่นักวิชาการยุคนั้นมักเรียกว่า ทุนจักรวรรดินิยม Imperialist capitalism มหาอำนาจทุนนิยมในยุคนั้นหลีกเลี่ยงสงครามไม่ได้ เพราะข้อจำกัดของระบบคิดทุนนิยมยุคนั้น ผลพวงของสงครามโลกสองครั้งสืบเนื่องต่อมายาวนาน จนถึงระยะ “กำแพงเบอร์ลินทะลาย” หรือการสิ้นสุดของสงครามเย็น
ในระยะนี้ สถาบันทางสังคมแบบดั้งเดิม เช่น ทางการเมืองคือระบบรัฐสภา , การเลือกตั้งเสรี , ระบบพรรคการเมือง , สถาบันด้านอื่น ๆ ทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สถาบันยุติธรรม , สถาบันการศึกษา ฯลฯ เริ่มสั่นคลอนมากขึ้นเรื่อย ๆ
แนวโน้มคือ โลกจะต้องเกิดสถาบันทางสังคมแบบใหม่ !
แต่มันเป็นรูปแบบอย่างไร ยังไม่มีใครตอบได้
ในทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารโลก เกิดแนวโน้มสภาพแวด้อมโลกใหม่นั่นคือกระแสโลกาภิวัตน์
ประกอบกับเกิดตัวแปรที่มีพลังอำนาจมหาศาล นั่นคือการปฏิวัติเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า การปฏิวัติคอมพิวเตอร์
ให้เสรีภาพในเวทีใหม่ที่กว้างใหญ่มหาศาลคือโลกไซเบอร์ และการสื่อสารข้อมูลอิสระ
ขณะนี้ “สถาบันสื่อมวลชน” แบบดั้งเดิมกำลังสั่นคลอน และดูอนาคตมืดมัวลงเรื่อย ๆ สถาบันทางสังคมอื่น ๆ ก็เช่นกัน
ปรากฏการณ์การแตกกระจัดกระจายของ “แนวคิดความเชื่อ” เหมือนมันระเบิดแตกออกแยกย่อยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์
“ปัจเจกนิยม” กำลังบรรลุเป็นจริง คือไม่มีมาตรฐานว่าพลเมืองจะปฏิบัติตามกรอบที่ถูกสัง
คมองค์รวมกำหนดไว้ ไม่สามารถตัดสินความดีความเลวได้อีกต่อไป ผู้คนจะเลือกทำอะไรดีอะไรเลวตามความเชื่อของตนเอง
เสรีภาพอันนี้ดูดีก็จริง มันคล้าย ๆ อุดมคติของลัทธิอนาคิสต์ที่เชื่อว่าไม่ควรมี “รัฐ” เพราะมนุษย์ควบคุมดูแลตนเองได้
แต่เอาเข้าจริง มนุษย์ก็มิอาจควบคุมตัวเองได้ทุกคน มนุษย์มีรากความรู้ข้อมูลไม่เท่ากัน มนุษย์ที่มิได้ถูกควบคุมโดยสังคมองค์รวม จะตัดสินความดี-ความเลว ไม่เหมือนกันเลย
นี่คือด่านอันตรายของยุค
“ระยะผ่าน” ก็คือห้วงการเปลี่ยนผ่านจากระบบสถาบันทางสังคมแบบดั้งเดิม ไปสู่ระบบสถาบันทงสังคมแบบใหม่ ในระยะผ่านนี้ สังคมทั่วโลกจะเกิดความนิยม “ลัทธิปัจเจกชนสุดขั้ว” อันจะทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งกันทั่วไป อาจจะรุนแรงมากก็ได้
ทิศทางที่มนุษยชาติควรร่วมด้วยช่วยกันคือ ร่วมกันสร้างภูมิปัญญาว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้ทำให้ “ระยะผ่าน” ที่ว่านี้ สั้นที่สุด ให้มันผ่านพ้นไปสู่สถาบันทางสังคมใหม่ได้อย่างเกิดความเสียหายต่อมนุษยชาติน้อยที่สุด