เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com คงไม่ใช่เพียงเพราะมีภรรยาเป็นอดีตครูวรรณคดีฝรั่งเศสและเคยสอนตนเองที่ทำให้ภาษาของนายมาครง ประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศสมีสีสันอย่างพิเศษกว่าคนอื่น แต่น่าจะเป็นเพราะวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่นและเจตจำนงของนายมาครงเองมากกว่า ตั่งแต่การรณรงค์หาเสียงแล้วที่นายมาครงใช้ภาษาที่สะท้อนแนวคิดที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่บางเรื่องบางประเด็น แต่เปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศเลยทีเดียว นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่า อาจเป็นเพราะความเป็นคนหนุ่มอายุเพียง 39 ปีที่เปี่ยมไปด้วยพลังก็เป็นได้ ขณะที่ฝ่ายตรงกันข้าม โดยเฉพาะกลุ่มขวาจัดมองว่าเป็นแค่การตีฝีปาก เอาเข้าจริงก็จะทำอะไรไม่ได้พอๆ กับรัฐบาลก่อนนี้ ในวันปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายมาครงใช้ภาษาที่เต็มไปด้วยคำว่า “re” ในภาษาฝรั่งสายละตินคำที่ขึ้นต้นแบบนี้ (prefix) มักเป็นการทำใหม่ การเปลี่ยนแปลง เขาใช้คำว่า “re-formulate” “re-invent” “re-mould” “re-juvenate” “re-launch” และ “re-naissance.” ขออภัยที่ต้องเขียนคำเหล่านี้ (เป็นอังกฤษ) และขอไม่แปล เพราะหากท่านไม่เข้าใจก็หาในกูเกิ้ลหรือพจนานุกรมทั่วไปได้ สรุปได้ว่า คำเหล่านี้สะท้อนความตั้งใจที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบ “จำหน้าไม่ได้” เลยทีเดียว การใช้คำว่า “renaissance” เป็นความตั้งใจเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสและของยุโรปอย่างแน่นอน เพราะได้ยินคำนี้คนจำนวนมากก็คิดถึงยุคหลังยุคกลางในยุโรปที่เรียกกันว่า Renaissance (แปลว่า การเกิดใหม่) ที่ไทยเรามักแปลว่า “ยุคฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม” ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในตะวันตกเริ่มที่กรีซเมื่อ 2,500 ปีก่อน ซึ่งเชื่อมโยงอย่างสำคัญกับกำเนิดปรัชญา แนวคิดว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพของมนุษย์ การเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ยอมสยบทุกอย่างต่อคำอธิบายแบบตำนานหรือเทพปกรณัม (mythology) ว่าทุกอย่างเป็นชะตากรรม กำหนดจากเทพเจ้ากำเนิดปรัชญาและประชาธิปไตยมาพร้อมกับกำเนิดความรู้ วิชาการ วิทยาศาสตร์ การหาคำอธิบายโดยเหตุผลมากกว่าด้วยความเชื่อแต่เฟื่องฟูได้ไม่นาน ประชาธิปไตยแบบกรีซ วิชาความรู้แบบธรรมชาติก็ค่อยๆ ถูกครอบงำและแทนที่ด้วยศรัทธาใน “ตำนาน” ใหม่ คือศาสนาคริสต์ พร้อมกับการเสื่อมสลายของอาณาจักรโรมัน แทนที่ด้วยคริสต์จักร (Christiandom) ศาสนาคริสต์เป็นผู้ให้คำอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างจนถึงศตวรรษที่ 13-14 นับเป็นพันปีที่คนมักถือว่าเป็น “ยุคมืด” เมื่อไปเปรียบเทียบกับยุคก่อนนั้นในยุคทองของกรีซและในยุคต่อมาที่มีการ “เกิดใหม่” ของวิชาการต่างๆ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างสำคัญ แต่หลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ที่มองยุคกลางเป็นยุคมืด เพราะถ้าหากไม่มียุคกลางก็จะไม่มียุคเกิดใหม่ เพราะรากฐานต่างๆ มาจากยุคที่ว่ามืดทั้งนั้น ลองไปดูโบสถ์วิหารอันยิ่งใหญ่ที่เมืองต่างๆ ของฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ ล้วนกำเนิดในยุคกลาง วิชาการต่างๆ ก่อตัวตั้งแต่ยุคนั้น นวัตกรรม วิชาการใหม่มาเกิดในศตวรรณที่ 13 เมื่อเกิด “มหาวิทยาลัย” มีเจ้าสำนักใหม่ๆ พร้อมแนวคิดใหม่ ทฤษฎีใหม่ จนนำไปสู่การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในศตวรรษต่อๆ มา นั่นคือการเปลี่ยนผ่านจากลัทธิเทวสิทธิ (ที่เชื่อว่าสิทธิต่างๆ พระเจ้าให้มา) มาสู่สิทธิมนุษยชน จากสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่ประชาธิปไตย จากความเชื่อมั่นในพระเจ้ามาสู่ความเชื่อมั่นในตนเอง นายมาครงบอกในวันรับตำแหน่งว่า ฝรั่งเศสจะต้องเกิดใหม่ เขาจะ “คืนความเชื่อมั่นในตัวเองให้ประชาชน” ความเชื่อมั่นที่ถูกทำลายและสูญหายไปนาน แต่เขาก็บอกว่า จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นทันทีแบบเสกได้ การเปลี่ยนแปลงจะค่อยๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นของ “ความสมานฉันท์” หรือการกลับมาเป็นหนึ่งเดียวของฝรั่งเศสที่วันนี้แบ่งแยกชัดเจน แม้สามร้อยปีก่อนฝรั่งเศสจะเคยมีเดการ์ต บิดาของลัทธิเหตุผลนิยมที่ส่งผลมาจนถึงโลกวันนี้ แต่ในยุคเดียวกันก็มีปาสกัล นักปรัชญาสาย “องค์รวม” ที่บอกว่า “หัวใจมีเหตุผลที่สมองของเราไม่เข้าใจ” และบอกด้วยว่า “ขอบฟ้ามิได้อยู่ที่สุดสายตา แต่อยู่ทุกย่างก้าวที่เราเดิน” นายมาครงก็คงเชื่อเช่นนี้ หลังเข้ารับตำแหน่งวันเดียว นายมาครงบินไปเบอร์ลินเพื่อพบนางอังเกลา แมร์เกิล ผู้นำเยอรมัน เพื่อยืนยันความร่วมมือกับสหภาพยุโรป และเสนอว่าจะต้องมี “การสร้างยุโรปใหม่” หรือ “การฟื้นฟูยุโรป” (to reconstruct Europe) และใช้คำว่า “การฟื้นฟูแห่งประวัติศาสตร์” (historic reconstruction) ภาษากับการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ผนึกพลังมวลชน ปลุกเร้าผู้คน อยู่ทีว่าจะพาไปสวรรค์หรือลงนรกเท่านั้น ดังที่ฮิตเลอร์และมุสโสลินีนักพูดนักปราศัยผู้ยิ่งใหญ่เคยทำ และนักการเมืองยุคใหม่ก็เต็มไปด้วยถ้อยคำสำนวนโวหารที่มักจะ “โว” และต้อง “หาร” มากกว่าอย่างอื่น