แสงไทย เค้าภูไทย
การย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนามของพานาโซนิคกับการปิดโรงงานของมิตซูบิชิอีเล็คทริคและศรีไทยซุเปอร์แวร์ กับอีกหลายโรงงาน ส่งสัญญาณต่อรัฐบาลไทยว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้เสื่อมถอยลงไปจนพวกเขาต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นที่ดีกว่าแล้ว
ตัวเลขชี้วัดภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกที่อัตราเติบโตของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ GDP) -1.8% จากคาดการณ์ 2.3-2.5% เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดอย (Recession) เต็มตัวแล้ว
ทั้งนี้ยังไม่นับไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รุนแรงเต็มตัว ยิ่งกว่าไตรมาสแรก ซึ่งระยะนั้นยังได้รับอานิสงส์จากการส่งออกและการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลรื่นเริงส่งท้ายปีและปีใหม่
หลายโรงงาน หลายกิจการ หลายธุรกิจปิดตัวลอยแพคนงานในช่วงนี้ อันเป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อสกัดกั้นการระบาดของไวรัส
การที่เวียดนามกลายเป็นดินแดนที่น่าลงทุนของต่างชาตินั้น ไม่ต่างจากยุคอรุณรุ่งของอุตสาหกรรมไทยที่ไทยมีสิ่งดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาติจนแห่กันมาลงทุนมากมาย
ตั้งแต่การตั้งโรงงานแยกก๊าซที่มาบตาพุดจนเกิดคำว่า “โชติช่วงชัชวาลย์” การได้สิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐฯและยุโรป(GSP) ภาษี ค่าแรงงานราคาถูก ค่าเงินบาทอ่อนฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ ล้วนไปเกิดที่เวียดนาม ขณะที่ไทยถดถอย
ล่าสุดเวียดนามสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เสร็จแล้ว กลายเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ใหญ่ที่สุดในอาเซียนต้นทุนพลังงานถูกที่สุด
การได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าของเวียดนามก็ยังคงอยู่ ขณะที่ไทยถูกตัดไป 573 รายการคงเหลือแต่สินค้าด้านเกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์เกษตรเช่น สินค้าประมง ผัก ผลไม้ สินค้าเกษตรแปรรูป ฯลฯ
สินค้าที่ได้รับผลกระทบที่สุดคือสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำรายได้ส่งออกสูงที่สุดของไทย
การที่สหรัฐฯไม่ตัดจีเอสพีเวียดนามนั้น เหตุจากสหรัฐฯเอาใจเวียดนามมาก ขนาดการพบปะเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กับประธานาธิบดี คิม จอง อึน ครั้งที่สองยังใช้เวียดนามเป็นเวที
ทั้งนี้เพราะ เวียดนามเป็นชาติที่มีแผ่นดินยาวเลียบตลอดฝั่งทะเลจีนใต้เชื่อมจากฟิลิปปินส์ขึ้นไปจนจรดอ่าวตังเกี๋ย
สหรัฐฯถือเอาเวียดนามเป็นชาติกันชนถ่วงดุลอำนาจทางทะเลกับจีนในย่านทะเลจีนใต้แห่งนี้้
ก่อนถูกตัดจีเอสพี ไทยมีรายได้จากการส่งออกไปสหรัฐฯปีละ 9,000 ล้านดอลลาร์โดยเฉลี่ย หลังถูกตัดจีเอสพี ไทยสูญเสียรายได้ประมาณ 1,800 ล้านดอลลาร์
ดูจะไม่มีผลรุนแรงนัก จนมีผู้กล่าวว่า การถูกตัดจีเอสพีทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากการส่งออกน้อยกว่าค่าบาทแข็งหลายเท่าตัว
เทียบกับเวียดนามแล้ว ธนาคารกลางของเวียดนามไม่กังวลต่อเสถียรภาพของด่องเท่าใดนัก
ขณะที่ไทยที่ภูมิใจนักหนากับค่าบาทแข็งโป๊ก ถือว่ามีเสถียรภาพที่สุดในเอเชีย
ส่วนค่าด่องนั้น ลดกันหัวเดือนท้ายเดือน
การตัดจีเอสพี แม้จะไม่กระทบต่อผูู้ประกอบการรายใหญ่ มีแต่รายย่อยและเอสเอ็มอี ทว่าก็เป็นผลกระทบด้านจิตวิทยา โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่เคยอาศัยสิทธิพิเศษจีเอสพีจากไทยไปยังสหรัฐฯ
พานาโซนิคก็อยู่ในโรงงานเหล่านั้น รวมถึงมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ชลบุรี ที่ปิดโรงงาน เลิกจ้างพนักงานกว่าพันคน กับกลุ่มโรงงานอีเล็กทริกที่สมุทรสาครซึ่ง เลิกจ้างเกือบพันคนเช่นกัน
อีกด้านหนึ่ง การเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) ก็มีส่วนในการผลักดันให้เวียดนามเป็นชาติทางเลือกดีที่สุดสำหรับการตั้งฐานการผลิต
คำจำกัดความของการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) คือ การกีดกันทางการค้าด้วยการสร้างกลุ่มการค้าเสรีขึ้นมาอย่างเช่นอาเซียนตั้งกลุ่มค้าเสรี (AFTA) ขึ้น
ทำให้ประเทศนอกกลุ่มไม่สามารถแข่งขันในทางการค้ากับประเทศสมาชิกกลุ่มได้ หากจะค้าขายกับสมาชิก ต้องตั้งราคาสินค้าต่ำกว่าต้นทุนผลิตจริงมาก
ในการนี้ ประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเบี่ยงเบนทางการค้าก็คือเวียดนามกับมาเลเซีย
นอกจากนี้ เวียดนามยังมีสิ่งล่อใจมากมาย ทั้งภาษีในด้านต่างๆ ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค
มิใช่แต่จากไทยเท่านั้น ในอนาคต โรงงานของนักลงทุนต่างชาติในจีนก็จะมาเวียดนามด้วย
ล่าสุดแอปเปิลที่ประธานาธิบดีทรัมป์เรียกร้องให้ย้ายออกจากจีนกลับบ้านมาขยายการลงทุนในอเมริกา
แต่แอปเปิลกลับย้ายฐนการผลิตมาเวีบดนามแทน
นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเวียดนามจึงดึงดูดโรงงานจากชาติเพื่อนบ้านเข้าไปตั้งฐานการผลิต
และทำไมนักลงทุนต่างชาติจึงย้ายหรือปิดโรงงานในไทย ทั้งๆที่ไทยยังปลื้มใจไม่หายที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นชาติที่เหมาะสมที่สุดในโลกในการเริ่มต้นธุรกิจ