ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] ข่าวการผ่าตัดใหญ่การบินไทยที่ขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 56 จนถึงปี 63 นับหมื่นล้านบาท ทั้งๆที่พนักงานต่างมุ่งมั่นทำงานเพื่อองค์กรทั้งสิ้น แต่ที่เพิ่งเริ่มจะขาดทุนเพราะมีเหตุทำให้ต้องขาดทุนเพราะนักการเมืองเป็นเหตุ ก่อนหน้านี้การบินไทยเป็นสายการบินดาวรุ่ง มีกำไรมาตลอด แต่ช่วงหลังนี้ทำไมเป็นเหตุให้ต้องขาดทุน โดยเฉพาะแนวทางการผ่าตัดใหญ่นี้มีมานานแล้ว แต่นักการเมืองไม่ตัดสินใจเพราะจะขาดรายได้ที่มารุมทึ้งการบินไทยเป็นกอบเป็นกำ เหตุที่ทำให้การบินไทยประสบสภาวะเหลือแต่กระดูกเพราะอะไร 1.บอร์ดการบินไทยที่ถือหุ้นใหญ่โดยกระทรวงการคลัง 51.03% มีธนาคารออมสิน 2.13% บริษัท ไทยเอ็มวิดีอาร์ จำกัด 3.26% กองทุนวายุภักต์ของกรุงไทย 7.56% กองทุนรวมวายุภักต์ เอ็มเอฟซี 7.56% ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ที่มีนักการเมืองมาควบคุม ทำให้การตั้งกรรมการหรือบอร์ดเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของฝ่ายการเมืองที่มุ่งเอาผลประโยชน์จากการลงทุนนี้ ส่วนมากขาดประสบการณ์ในธุรกิจการบินทั้งสิ้น เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลจะถือโอกาสเปลี่ยนตัวกรรมการเป็นประเพณี 2.อำนาจของบอร์ดทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบภาวะการขาดทุน จึงมีธุรกิจเข้ามากอบโกยทำธุรกิจแบบทุจริตคอร์รัปชั่นภายในองค์กรอย่างหนัก ผู้บริหารภายในก็ล้วนแล้วแต่มาจากเส้นสายนักการเมือง ต่างฝากฝังลูกหลานของตนเองเข้ามาเป็นพนักงานโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนแบบนักธุรกิจ 3.เครื่องบินอนุมัติสั่งซื้อกันหลายรุ่น หลายยี่ห้อ โดยเฉพาะซื้อเครื่องบินกินน้ำมันมากๆมาจอดทิ้งไว้ที่อู่ตะเภากันหลายลำ ทำให้มียอดหนี้สะสมมากขึ้น 4.การขายตั๋วต่างมีธุรกิจให้เอกชนเข้ามาขายตั๋วให้ โดยมีค่าต๋งจำนวนมาก เหลือแต่ค่าน้ำมันยังไม่ได้ ทำให้รายได้ของการบินไทยตกต่ำลงถึงขั้นขาดทุนหลายไฟลท์ เพราะบริษัทค้าขายตั๋วต่างให้การบินไทยบินไปยังเป้าหมายที่มีกำไรจากการขายตั๋วกันมากมาย 5.การทุจริตภายในองค์กรทั้งการซื้อขายสินค้าและการค้าขายอุปกรณ์การบิน ร่ำรวยกันเป็นล่ำเป็นสัน 6.ฝ่ายการเมืองทราบดีว่าขาดทุน แต่เป็นธุรกิจของรัฐ ต่างปิดกันเงียบ และพยายามจะแก้ไขโดยเปลี่ยนตัวผู้บริหารกันใหม่ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนยุทธศาสตร์ได้ เพราะขาดทุนสะสมตลอดและขบวนการทุจริตภายในมากมาย เจาะส่วนใดก็เจอตอที่นั่น ความพยายามของรัฐบาลชุดนี้เห็นทีพอจะปรับแก้ได้บ้าง เพราะรัฐบาลเห็นแล้วว่าการบินไทยไปไม่ไหว ขืนปล่อยทิ้งไว้จะเหลือแต่ซากปรักหักพังขององค์กร โดยจะเริ่มผ่าตัดใหม่ตามแผนฟื้นฟู ดังนี้ 1.กระทรวงการคลังผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จะค้ำประกันเงินกู้ 5.4 หมื่นล้าน เพื่อมิให้เงินขาดมือเพื่อใช้หนี้ 2. ระยะยาวจะเพิ่มทุนอีก 8 หมื่นล้านบาท 2.1 ลดจำนวนพนักงานลง 30% 2.2 ขายหุ้นผ่านกองทุนรวมวายุภักต์ 2.3 ไม่ลงทุนซื้อเครื่องบินใหม่ 36 ลำ 2.4 ยกเลิก 20 จุดบินที่ขาดทุนและลดฝูงบินจาก 82 ลำ เหลือ 64 ลำ โดยจะขายเครื่องเก่า 18 ลำ และโละเครื่องเช่าอีกบางส่วนรวมถึงการบินไทยจะขายตั๋วเอง 2.5 ปรับองค์กรเป็นโฮลดิ้งคอมปะนี มีการบินไทยเป็นโฮลดิ้ง มี 4 BU เช่น ธุรกิจครัวการบิน บริการภาคพื้นดิน คลังสินค้า และการซ่อมบำรุง โดยจะใช้ชื่อไทยสไมล์แทนการบินไทย โอกาสการบินไทยจะรอดและอยู่ได้ หาก ค.ร.ม.เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูนี้ แต่หลังจากรัฐบาลนี้ไปฝ่ายการเมืองจะถือโอกาสเข้าแทรกแซงอีกเพราะเป็นบริษัทลูกของกระทรวงการคลัง อาจจะร่วงอีกก็ได้ เพียงแต่จะต้องหาบอร์ดที่มือดี มีประสบการณ์ และไม่หวังประโยชน์อื่นใด คงจะไปได้รอดแต่คงดูต่อไปว่าโอกาสจะรอดหรือจะร่วงลงอีก รัฐบาลคงต้องรอบคอบในการพิจารณารายละเอียด