เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
โควิด-19 ทำให้อากาศเมืองใหญ่ๆ ดีขึ้น มลพิษลดลง ที่อู๋ฮั่น 44% โซล 54% นิวเดลี 60% แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าน่าจะเป็นเพียงระยะสั้นๆ เมื่อล็อกดาวน์จบลงคงจะกลับมา “สกปรก” เหมือนเดิม
คนชื่นชมน้ำใสที่คลองเวนิซ ท้องฟ้าสีครามในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก แต่หลายคนกำลังลำบากยากแค้น กำลังจะอดตาย ตกงานขาดรายได้ เวลาเดียวกัน โควิดมาคนก็ลืมเรื่องขยะที่กองเป็นภูเขาเลากา ถุงพลาสติกกลับมามากกว่าเดิม
แต่กระนั้นก็เชื่อว่า กำลังเกิดสำนึกใหม่ที่ทำให้มีการหลีกเลี่ยงการกลับไปหาสภาพมลพิษ มีความสนใจพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ไม่ใช่กลับไปใช้พลังงานฟอสซิลน้ำมันถ่านหินเหมือนเดิม คนจะคิดหนักว่าจะเอาเศรษฐกิจหรือสุขภาพมาก่อน บทเรียนครั้งนี้สำคัญที่รอการพิสูจน์ว่า จะได้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะพังทั้งสองอย่าง
เมืองมิลาน ที่โดนโควิดเล่นงานหนักที่สุดเมืองหนึ่งของอิตาลี เตรียมสร้างทางเลือก ให้มีการใช้จักรยาน สกูเตอร์ มากขึ้น รถเมล์ รถไฟใต้ดินจะให้โดยสารเพียงร้อยละ 30 เพื่อไม่ให้แออัด รักษาระยะห่างทางสังคมได้ เชื่อว่า หลังโควิดคนคงไม่อยากเดินทางมากเหมือนเดิม ไม่มีเงินไปเที่ยว ประหยัด อยากทำงานที่บ้าน
ทั่วโลกกำลังคิดกันว่า หลังโควิดจะอยู่กันอย่างไร ไม่เพียงแต่การออกแบบบ้านเรือน แต่รวมไปถึงการออกแบบเมือง ภูมินิเวศ ภูมิสังคมที่ต้องคิดกันใหม่ เพราะคนในศตวรรษ 21 นี้ ไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับโรคระบาดที่แห่กันมาตั้งแต่ Sars, Mers, Ebola, ไข้หวัดนก ไขหวัดหมู จนถึงโควิด-19 อะไรจะตามมาอีกก็ไม่รู้
การออกแบบวิถีชีวิตใหม่คงต้องเป็นวิถีสีเขียว โดยคำนึงว่า โควิดทำให้โลกเล็กลง เล็กเท่าบ้าน เล็กเท่าเมือง เท่าประเทศ โลกาภิวัตน์จะไม่เหมือนเดิม คนต้องคิดว่าจะพึ่งพาตนเองได้อย่างไร ได้บทเรียนจากวิกฤตินี้ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” คือ สัจจธรรม
ความจริงข้อหนึ่งที่รู้กันนานแล้ว คือ สิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กับโรคภัยไข้เจ็บ การเจ็บป่วยของคน การระบาดของโรค เมื่อ 180 ปีก่อน การสร้างท่อระบายน้ำเสียทำให้จำนวนคนป่วยด้วยโรคปอดลดลงถึงร้อยละ 50 ที่กรุงลอนดอน และมีการสร้างตึกที่มีแสงแดดส่องถึง มีอากาศถ่ายเท
ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตด้วยโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาเป็นคนผิวสีมากกว่าคนผิวขาว เพราะสถานะทางเศรษฐกิจมีข้อจำกัดและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี อย่างนิวยอร์คเมืองที่แออัดที่สุดในประเทศนี้และมีมลพิษมากที่สุด คนติดคนตายมากเกือบครึ่งของสหรัฐ
นักวิจัยจากฮาร์วาร์ดบอกว่า อีก 10 ปี 20% ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเขตเมืองที่มีข้อจำกัดทางโครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำ สุขภาพและสุขอนามัย ประชากรเมืองมีแต่จะเพิ่มขึ้น แต่ก็เห็นการเตรียมรับมือเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมในหลายเมือง
เมืองใหญ่ๆ มีการปิดถนนไม่ให้รถวิ่ง เพื่อให้คนเดินมากขึ้น ที่โอ้คแลนด์ในแคลิฟอร์เนียปิดถนนถึง 120 กิโลเมตรให้มีแต่จักรยานและคนเดิน นำร่องเมืองสีเขียว ขยายบาทวิถีให้กว้างขึ้น จะมีก๊อกน้ำทั่วเมืองเพื่อให้คนล้างมือ (ที่กรุงโรมตามถนนทั่วเมืองมีน้ำเย็นๆ จากก็อกบ้างจากปากรูปปั้นบ้างใช้ดื่มหรือล้างมือนานแล้ว)
ที่สิงคโปร์ บอดร์ดอุทยานแห่งชาติสร้าง “สวนรักษาโรค” (therapeutic gardens) ตามสวนสาธารณะ และเพิ่มสีเขียวในเมืองที่มีสูงอยู่แล้ว เช่นเดียวกับปลูกต้นไม้ในเมือง ปลูกผักปลูกข้าวบนตึก อันเป็นนโยบายชีวิตสีเขียวในเมืองใหญ่หลายแห่งนานแล้ว หลังโควิดผ่านไปคนยิ่งต้องเน้นเรื่องนี้หนักขึ้น
ในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) 22 เมษายนที่ผ่านมา เกรตา ทูนเบอร์กสาวน้อยนักรณรงค์สิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้คนทั่วโลกเลือกทางเดินใหม่หลังโคโรนาไวรัสไปแล้ว เพราะมันได้พิสูจน์ว่า สังคมเราไม่ยั่งยืน
เธอบอกว่า การที่โลกตอบรับสถานการณ์โควิด-19 ได้ทันทีแสดงว่าเราสามารถเปลี่ยนอะไรได้ทันทีเมื่อมนุษยชาติรวมพลังและทำตามคำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์ และควรเป็นแบบเดียวกันกับเรื่องภูมิอากาศ “ถ้าไวรัสนี้ทำลายเศรษฐกิจได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แสดงว่าเราไม่เคยคิดระยะยาวและเราอยู่แบบเสี่ยง”
โยฮัน ร็อคสโตรม นักวิทยาศาสตร์ระบบโลกที่ยืนพูดข้างเกรตา ทูนเบอร์ก ในยูทูปวันเดียวกันบอกว่า โรคระบาดกับสิ่งแวดล้อมสัมพันธ์กัน การตัดไม้ทำลายป่า ค้าสัตว์ป่า ทำให้ไวรัสกระโดดข้ามสายพันธุ์ มลพิษทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงให้คนเจ็บป่วยโรคทางเดินหายใจ เราดำเนินชีวิตแบบเกินขีดความสามารถที่โลกใบนี้จะแบกรับได้ เราจึงเสี่ยงที่จะเจ็บป่วย และทำให้ธรรมชาติเจ็บป่วยไปด้วย”
โควิด-19 ทำให้ปริมาณคาร์บอนไดอ็อกไซด์โลกลดลงถึงร้อยละ 5 มากที่สุดตั้งแต่หลังสงครามโลก เพราะโรงงานปิด ลดการเดินทางด้วยรถยนต์และเครื่องบิน โลกไม่น่าจะกลับไปอยู่ในสภาพมลพิษแบบเดิมอีก
อันโตนิโอ กุเทียเรซ เลขาธิการยูเอ็นพูดในวันคุ้มครองโลกว่า “สิ่งที่แพงที่สุด คือ การไม่ทำอะไรเลย” เขาเสนอให้โลกให้ความสำคัญกับ 6 เรื่อง คือ สร้างงานสะอาด/สีเขียว จ่ายภาษีสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืน เปลี่ยนเศรษฐกิจสีเทาคอนกรีตเป็นสีเขียวธรรมชาติ ลงทุนพลังงานหมุนเวียนแห่งอนาคตมากกว่ากับพลังงานฟอสซิลที่เป็นอดีตไปแล้ว และรวมเอาเรื่องภูมิอากาศเข้าไปในระบบเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างประเทศ
โพลสำรวจพบว่า ประเทศต่างๆ เห็นดวยหมด ประเด็นอยู่ที่ว่าจะทำด้วยหรือไม่เท่านั้น เพราะอาจมีคนกลัวอดตายมากกว่าตายด้วยมลพิษ เหมือนนายโดนัลด์ ทรัมป์ที่ประกาศให้สหรัฐถอนชื่อจากข้อตกลงโลกร้อนกรุงปารีส บอกว่า “เลือกพิตต์สเบอร์ก (เมืองอุตสาหกรรมหนัก) มากกว่าปารีส” เลือกเศรษฐกิจก่อนสุขภาพของประชาชน ไม่สนใจว่ามลพิษจะเป็นภัยต่อชีวิตของผู้คนเพียงใด
วิถีสีเขียวใหม่ green new normal จะเป็นการคาดการณ์แบบโลกสวย หรือเป็นแรงผลักดันสำคัญจากโควิด-19 คงไม่ใช่เรื่องที่เราจะเป็นเพียง “ผู้ชม” ที่คอยดู แต่เป็น “ผู้เล่น” สำคัญที่มีส่วนร่วมทำให้เป็นจริง