เสือตัวที่ 6
ยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐ ของขบวนการแบ่งแยกการปกครองอันเป็นกลุ่มที่ยึดมั่นในแนวคิดสุดโต่ง เหนียวแน่นตลอดมา เป็นกลุ่มขบวนการคิดต่างในพื้นที่ ยังคงดำเนินอยู่อย่างเข้มข้นต่อไปไม่เสื่อมคลาย ทำให้ถึงวันนี้ปัญหาความคิดต่างของคนในพื้นที่ที่ถูกปลุกระดมจากบรรดานักจัดตั้งมวลชนของขบวนการแห่งนี้ ยังคงเป็นปัญหาที่สืบทอด สั่งสมมาเป็นเวลานานและมีความซับซ้อนละเอียดอ่อนและเชื่อมโยงกันหลายมิติ โดยปัจจัยหลักที่ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขของปัญหา ยังคงเป็นเงื่อนไขเดิมๆ คือ ชาติพันธุ์ ศาสนา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และผ่านเรื่องราวเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกเรื่องราวของความเคืองแค้นระหว่างคนในพื้นที่กับคนทั่วไป ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสภาพของปัญหาสามารถแยกออกเป็น ปัญหาการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นปัญหาหลัก และปัญหาภัยแทรกซ้อนที่เป็นปัญหาสนับสนุน ส่งเสริมให้ปัญหาหลักมีความรุนแรงยิ่งขึ้น
โดยอาศัยความแตกต่างในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ที่ขบวนการกลุ่มนี้ พยายามเสมอมาในการสร้างความเป็นตัวตนเฉพาะกลุ่มตนให้เกิดขึ้น ชาติพันธุ์ ความเชื่อ ความศรัทธา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และภาษาพูด การดำเนินการอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้เกิดความแตกต่างชัดเจนกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยถูกชี้นำให้ประชาชนในพื้นที่ทุกเพศ ทุกวัย เกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกปกครองจากรัฐไทย ทำให้มีประชาชนกลุ่มหนึ่งได้จัดตั้งเป็นองค์กรลับและจัดอาวุธขึ้นมาต่อสู้ โดยสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน จากหน่วยงานความมั่นคงต่างยืนยันตรงกันได้ว่า กลุ่มแนวร่วมปฏิบัติประชาชาติปัตตานี (BRN – Coordinate) เป็นกลุ่มหลักในการต่อสู้ ซึ่งมีความคิดในการแบ่งแยกดินดินออกจากประเทศไทยอย่างเข้มข้น ต่อเนื่องยาวนาน และมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ทั้งในพื้นที่ การเมืองระดับท้องถิ่น การเมืองระดับชาติ คู่ขนานกับการเดินเกมในต่างประเทศอย่างเหนือชั้น
โดยบรรดานักคิดในขบวนการแปลกแยกจากรัฐ มีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัฐ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการ มุ่งไปสู่การได้เอกภาพ คือ การปฏิบัติการทางทหาร การก่อการร้าย การก่อวินาศกรรม และการบ่อนทำลายเพื่อให้บรรลุผลทางการเมือง จึงกำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัฐ 2 ประการ คือ 1) ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัฐ ด้วยการชนะจากภายนอก กล่าวคือ การได้รับการรับรองจากองค์กรระหว่างประเทศหรือต่างประเทศว่า รัฐปัตตานีถูกยึดครองโดยรัฐบาลไทย รัฐบาลไทยปกครองเปรียบเสมือนเป็นประชาชนชั้นสองถูกกดขี่ข่มแหง ไร้มนุษยธรรมและเรียกร้องให้เข้ามาร่วมสนับสนุนให้ปัตตานีได้รับเอกราช โดยให้สอดรับกับหลักการของสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (Right To Self Determination) ตามข้อตกลงของสหประชาชาติ (UN) ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายขั้นต้น คือ การได้สิทธิในการปกครองตนเอง (Autonomy) หรือเขตปกครองพิเศษ และ 2) ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัฐ ด้วยการทำให้รัฐแพ้จากภายใน ใช้ยุทธศาสตร์การสถาปนาพื้นที่ปลดปล่อยทางการเมืองทับซ้อนอำนาจรัฐ มุ่งสู่การทำประชามติ เลือกที่จะปกครองตนเอง (เมื่อชนะจากภายนอก) หรือใช้การลุกขึ้นเรียกร้องปกครองตนเอง ควบคู่การก่อเหตุสร้างสถานการณ์และบ่อนทำลาย เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไม่สนับสนุนการปฏิบัติของรัฐบาล จนทำให้รัฐบาลต้องยอมรับข้อเรียกร้องของกลุ่มขบวนการนี้ในที่สุด
ยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐ ของขบวนการร้ายนี้ ยังสอดแทรกด้วยปัญหาภัยแทรกซ้อน เป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับปัญหาเรื่องการแบ่งแยกดินแดนซึ่งเป็นปัญหาหลัก ทั้งในแง่ของเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในการเคลื่อนไหวและการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการ ตลอดจนเป็นเครื่องมือเพื่อใช้สร้างแรงจูงใจหรือโน้มน้าวชักจูงเยาวชนให้เข้าร่วมเป็นกลุ่มขบวนการ นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุของคดีอาชญากรรมหลายๆ คดีในพื้นที่ ซึ่งล้วนแต่เป็นการซ้ำเติมให้สภาพปัญหามีความซับซ้อน และเกิดภาพความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยมีปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งรัดการแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดเป็นเงื่อนไขของความรุนแรงในพื้นที่ ได้แก่ ยาเสพติด น้ำมันหลีกเลี่ยงภาษี ผู้มีอิทธิพลและธุรกิจผิดกฎหมาย
หากแต่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลจากการดำเนินการตามนโยบายการบริหารและการพัฒนา จชต. พ.ศ. 2555-2560 ของรัฐที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน จึงทำให้การแก้ไขปัญหาและพัฒนา จชต. มีความก้าวหน้าตามลำดับ ภาครัฐมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่มากยิ่งขึ้น เช่น การจัดระบบการดำเนินงานด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนาให้มีความสอดคล้องมากขึ้น ปรับกลไกการบริหารให้มีเอกภาพ มีการบูรณาการงบประมาณแผนงานโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ จึงส่งผลให้เงื่อนไขตามยุทธศาสตร์ของฝ่ายขบวนการ ลดน้อยถอยลง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ กระบวนการเปิดเวทีพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต. ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเป็นระบบ และจริงจังของรัฐ การส่งเสริมความเข้มแข็งให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนมากขึ้น จนกล้าแสดงออกและเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ จชต. มากขึ้น ภาครัฐและเจ้าหน้าที่รัฐมีการปรับตัว พัฒนาความรู้ ความเข้าใจและความทุ่มเทต่อการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม จนทุกฝ่ายมีความมั่นใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างสันติสุข อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของภาครัฐคือ การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การสร้างเอกภาพและการบูรณาการ การทำงานร่วมกันของภาครัฐ ที่ยังคงต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยหลังจากมีการปรับโครงสร้างการบริหารราชการ จชต. ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเอกภาพและการบูรณาการการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ทำให้อุปสรรคในเรื่องการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาที่เป็นเอกภาพเริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนและแนวโน้มที่ดีขึ้น
หากแต่การต่อสู้ของกลุ่มคนในขบวนการแบ่งแยกผู้คนในพื้นที่ ออกจากคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ยังคงมุ่งมั่นอย่างทรงพลังต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมายปลายทางสุดท้ายที่พวกเขาต้องการ นั่นคือ อิสระในการปกครองกันเอง ทามกลางการสร้างการรับรู้เข้าในที่แตกต่างจากรัฐให้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ และดำรงรักษาความคิดต่างของคนรุ่นปัจจุบันให้กล้าแข็งต่อไป เหล่านี้คือยุทธศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการแห่งนี้ที่ชี้ให้เห็นว่า มันไม่เคยหยุดนิ่งแม้แต่นาทีเดียว