เสือตัวที่ 6
สถานการณ์ในพื้นที่ จชต. แม้จะมีสภาพโดยทั่วไป มีแนวโน้มทางสถิติในการก่อเหตุร้ายที่ไปในทิศทางที่ลดลง หากแต่ความพยายามในการแบ่งแยกการปกครองของกลุ่มขบวนการคิดต่างในพื้นที่ ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปไม่เสื่อมคลาย ทำให้ถึงวันนี้ปัญหาความคิดต่างของคนในพื้นที่ที่ถูกปลุกระดมจากบรรดานักจัดตั้งมวลชนของขบวนการแห่งนี้ ยังคงเป็นปัญหาที่สืบทอด สั่งสมมาเป็นเวลานานและมีความซับซ้อนละเอียดอ่อนและเชื่อมโยงกันหลายมิติ โดยปัจจัยหลักที่ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขของปัญหา คือ ชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม และผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสภาพของปัญหาสามารถแยกออกเป็น ปัญหาการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นปัญหาหลัก และปัญหาภัยแทรกซ้อนที่เป็นปัญหาสนับสนุน ส่งเสริมให้ปัญหาหลักมีความรุนแรงยิ่งขึ้น
โดยอาศัยความแตกต่างด้านอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ความเชื่อ ความศรัทธา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และภาษาพูด ที่แตกต่างชัดเจนกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยถูกชี้นำให้ประชาชนในพื้นที่ทุกเพศ ทุกวัย เกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกปกครองจากรัฐไทย ทำให้มีประชาชนกลุ่มหนึ่งได้จัดตั้งเป็นองค์กรลับและจัดอาวุธขึ้นมาต่อสู้ โดยสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน จากหน่วยงานความมั่นคงต่างยืนยันตรงกันได้ว่า กลุ่มแนวร่วมปฏิบัติประชาชาติปัตตานี (BRN – Coordinate) เป็นกลุ่มหลักในการต่อสู้ ซึ่งมีความคิดในการแบ่งแยกดินดินออกจากประเทศไทยอย่างเข้มข้น ต่อเนื่องยาวนาน และมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ สอดประสานระหว่างการต่อสู้ในพื้นที่ คู่ขนานกับการขับเคลื่อนการต่อสู้ในต่างประเทศอย่างเหนือชั้น
โดยบรรดานักคิดในขบวนการแปลกแยกจากรัฐ มีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัฐ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการ มุ่งไปสู่การได้เอกภาพ คือ การปฏิบัติการทางทหาร การก่อการร้าย การก่อวินาศกรรม และการบ่อนทำลายเพื่อให้บรรลุผลทางการเมือง จึงกำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัฐ 2 ประการ คือ 1) ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัฐ ด้วยการชนะจากภายนอก กล่าวคือ การได้รับการรับรองจากองค์กรระหว่างประเทศหรือต่างประเทศว่า รัฐปัตตานีถูกยึดครองโดยรัฐบาลไทย รัฐบาลไทยปกครองเปรียบเสมือนเป็นประชาชนชั้นสองถูกกดขี่ข่มแหง ไร้มนุษยธรรมและเรียกร้องให้เข้ามาร่วมสนับสนุนให้ปัตตานีได้รับเอกราช โดยให้สอดรับกับหลักการของสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (Right To Self Determination) ตามข้อตกลงของสหประชาชาติ (UN) ในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2503 เรื่อง การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and peoples) ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายขั้นต้น คือ การได้สิทธิในการปกครองตนเอง (Autonomy) หรือเขตปกครองพิเศษ
และ 2) ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัฐ ด้วยการทำให้รัฐแพ้จากภายใน ใช้ยุทธศาสตร์การสถาปนาพื้นที่ปลดปล่อยทางการเมืองทับซ้อนอำนาจรัฐ มุ่งสู่การทำประชามติ เลือกที่จะปกครองตนเอง (เมื่อชนะจากภายนอก) หรือใช้การลุกขึ้นเรียกร้องปกครองตนเอง โดยประชาชนนับล้านคน (ตัวแบบการลุกขึ้นมาโค่นล้มอำนาจรัฐโดยประชาชน เช่น Arab Spring ควบคู่การก่อเหตุสร้างสถานการณ์และบ่อนทำลาย เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไม่สนับสนุนการปฏิบัติของรัฐบาล จนทำให้รัฐบาลต้องยอมรับข้อเรียกร้องของกลุ่ม ผกร. ในที่สุด
ปัจจุบัน แม้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ จชต. จะดูว่ามีแนวโน้มลดลง จาการก่อเหตุร้ายที่ไม่ถี่เหมือนช่วงก่อนหน้า แต่ยังมีสถานการณ์ยังคงไว้วางใจไม่ได้ เพราะความพยายามในการบรรลุเป้าหมายระดับยุทธศาสตร์ของขบวนการแบ่งแยกการปกครองแห่งนี้ ยังคงเดินหน้าต่อสู้ต่อไปอย่างเข้มข้น เพราะการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์จาการทำลายล้าง เพื่อให้เกิดการรับรู้สู่ประชาคมโลกว่า กำลังมีความขัดแย้งด้วยอาวุธในพื้นที่ ระหว่างรัฐไทยกับคนในพื้นที่ท้องถิ่น และหวังจะให้ประชาคมโลกยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ สนับสนุนในการแบ่งแยกการปกครองในที่สุด ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ และเพื่อสื่อไปในประเด็นความขัดแย้งด้วยอาวุธของคนในพื้นที่ อันเป็นประเด็นหนึ่งในการเข้าสู่ประเด็นของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (Right to Self-Determination : RSD) ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่มีความละเอียดอ่อนและมีผลกระทบต่อความมั่นคงอย่างยิ่ง
ด้วยเป็นปัญหาความรุนแรงที่เป็นผลมาจากเงื่อนไขที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกันใน 3 ระดับ คือ 1) เงื่อนไขระดับตัวบุคคล ซึ่งเกิดจากกลุ่มที่มีอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ การสร้างเงื่อนไขจากเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ภัยแทรกซ้อน และการใช้ความรุนแรงอันเป็นผลจากการสร้างความแค้นและความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในจิตใจของประชาชน โดยกลุ่มนักจัดตั้งมวลชนของขบวนการ 2) เงื่อนไขระดับโครงสร้าง คือ การชี้นำให้เห็นว่า เป็นโครงสร้างการปกครองที่ไม่สนองตอบกับความต้องการของพี่น้องมวลชนในพื้นที่ การที่ประชาชนในพื้นที่ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ถูกเลือกปฏิบัติและขาดอำนาจในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองอย่างแท้จริง
และ 3) เงื่อนไขระดับวัฒนธรรม การที่ขบวนการแบ่งแยกผู้คนออกจากรัฐ ด้วยการหล่อหลอม บ่มเพาะอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องให้ประชาชนไทยมลายูในพื้นที่บางส่วน รู้สึกแปลกแยกจากรัฐ และไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย โดยชี้นำบ่มเพาะให้พี่น้องคนในพื้นที่เห็นว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่ ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ จ้องจับผิดพี่น้องมุสลิมในพื้นที่และมีอคติกับพวกตน มีการดำเนินงานที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิต อัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้คนในพื้นที่ส่วนหนึ่งซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีมากหรือน้อยแค่ไหน ให้การยอมรับการต่อสู้ของขบวนการร้ายแห่งนี้ หรืออย่างน้อยก็เห็นด้วยกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงและให้การสนับสนุนการต่อสู้กับรัฐไม่ส่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐของขบวนการ บนเงื่อนไขสำคัญที่กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ หยิบยกมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการในการต่อสู้กับรัฐในทุกวิถีทาง เพื่อเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์สำคัญสูงสุดคือ การปกครองตนเองของคนในพื้นที่ตามต้องการ